สังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งความรู้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถหาได้ง่าย สมรรถนะที่ใช้ในการทำงานจะมีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงต้องมีการปรับหลักสูตรจากการกำหนดวัตถุประสงค์การสอนที่เน้นเนื้อหาความรู้รายวิชา มาเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือพัฒนาสมรรถนะ (Competence) ให้แก่ผู้เรียน ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) ทัศนคติ (Attitude) และคุณค่า (Value) ที่ตอบสนองความต้องการของสังคมและตลาดแรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
Outcome-based Education (OBE)
Outcome-based Education (OBE) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่เน้นสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่เรียกว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือ Learning Outcome โดยจะต้องมีความชัดเจน แสดงถึงสิ่งที่คาดหวังให้ผู้เรียนจะเป็น หรือทำได้เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการสอนเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียน ตลอดจนการวัดประเมินผลแนะแนวทางพัฒนาแก่ผู้เรียน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้
KMUTT’s Outcome-based Education Framework
- Plan (Syllabus Writing & Review) ปัจจุบันมจธ.ได้ทำการออกแบบหลักสูตรหรือกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ตามหลักการย้อนกลับหรือ “ Backward Design ” โดยเริ่มต้นจากการกำหนด Learning Outcome ถัดมาจะเป็นการออกแบบการประเมินผล (Assessment) เพื่อกำหนดหลักฐานการเรียนรู้ (Evidence of learning) และวิธีการประเมินที่สามารถแสดงได้ว่าผู้เรียนบรรลุ Learning Outcome ที่กำหนดไว้ จากนั้นจึงเป็นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และการเรียนการสอน (Learning & Teaching Activities) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับทั้งสองส่วน (Learning Outcome และ Assessment) ซึ่งแนวคิดที่นำมาใช้ออกแบบการเรียนรู้นี้คือ “Constructive Alignment”
- Implement (Course Delivery) การจัดสภาพแวดล้อมและจัดการเรียนการสอน โดยจะเป็นการใช้ศาสตร์การสอน (Pedagogy) และกิจกรรมการสอนที่หลากหลายให้เหมาะสมกับบริบทของหลักสูตร รายวิชา และผู้เรียน เพื่อพัฒนาและสนับสนุนผู้เรียนทุกคนไปสู่ Learning Outcome ที่คาดหวัง
- Measure/Assess (Assessment) จะเป็นการประเมินจากหลักฐานการเรียนรู้ (Evidence of learning) ที่กำหนดไว้ในขั้นตอนออกแบบ โดยจะต้องสามารถแยกแยะระดับความสามารถของผู้เรียนด้วยเกณฑ์ (Criteria) ที่ชัดเจน และถ้ามีการตัดสินด้วยเกรด แต่ละเกรดควรมีความหมายว่าผู้เรียนมีความสามารถเป็นอย่างไรในแต่ละเกรด
- Respond/Improve (Continuous Quality Improvement) การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นอีกประเด็นที่สำคัญใน OBE มาก ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตร รายวิชา และกิจกรรมการเรียนรู้ใด ๆ ควรนำข้อมูลจากการประเมิน (Measure/Assess) มาปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน พัฒนาการสอนของผู้สอน ระบบการจัดการศึกษา รวมทั้งพัฒนาการของผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนโดยเฉพาะระดับหลักสูตร (Program Learning Outcome:PLOs)
Reference