เรียบเรียงโดย
นายณัฐวุฒิ คุ้มทอง นักพัฒนาการศึกษา สถาบันการเรียนรู้
Constructive Alignment มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนการออกแบบการเรียนรู้ระดับบทเรียน
Constructive Alignment มาจากคำว่า Constructive มีพื้นฐานมาจาก Constructivism หรือผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ และคำว่า Alignment เป็นสิ่งที่ผู้สอนออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างกิจกรรมการเรียนรู้ และการประเมิน กับผลลัพธ์การเรียนรู้
ดังนั้น Constructive Alignment คือ หลักการออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของ Outcomes-based Education ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่เน้นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อการันตีว่าหลังสิ้นสุดการเรียนรู้ ผู้เรียนจะบรรลุ Learning Outcome โดยมีหลักสำคัญ คือ การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือ Learning Outcome ที่เราเรียกย่อ ๆ ว่า LO ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนที่แสดงถึงสิ่งที่คาดหวังให้ผู้เรียนทำได้เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้ โดย Learning Activity และ Assessment จะต้องมีความสอดคล้องกัน เพื่อนำพาผู้เรียนให้บรรลุได้ตาม Learning Outcome
ส่วนที่ 1. Learning Outcome
คือ สิ่งที่ผู้เรียนสามารถทำได้หรือทำเป็นหลังจากสิ้นสุดการเรียนรู้ ก่อนการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนจะต้องกำหนด Learning Outcome ไว้อย่างชัดเจน
ดังนั้นการเขียน Learning Outcome จึงต้องระบุพฤติกรรมที่ผู้เรียนสามารถแสดงออกเป็นรูปธรรม เพื่อการสังเกต วัดและประเมินเมื่อจบการเรียนรู้ โดยอ้างอิงระดับการเรียนรู้ตามหลักการหรือทฤษฎีที่เชื่อถือได้
เทคนิคการเขียน Learning Outcome
รูปแบบการเขียน Learning Outcome แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1.Action Verb คือ คำกริยาที่สะท้อนพฤติกรรมผู้เรียน
ส่วนที่ 2.Object คือ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน
และส่วนที่ 3.Qualifying Phrase คือส่วนขยายที่สะท้อนการประเมิน
ตัวอย่างการออกแบบและเขียน Learning Outcome
ผู้สอนต้องการออกแบบ Learning Outcome ด้านความรู้ เพื่อแสดงถึงความสามารถระดับความจำตัวอักษรภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับอนุบาล 3 โดยอ้างอิงหรือใช้แนวคิด Cognitive Domain ระดับความเข้าใจ ใน Bloom’s Taxonomy
โดยมี Learning Outcome คือ หลังสิ้นสุดบทเรียน นักเรียนสามารถท่อง A-Z ได้ครบ 26 ตัว เป็นต้น
เมื่อผู้สอนเขียน Learning Outcome แล้ว ก่อนที่จะออกแบบการประเมินและการสอน ให้พิจารณาว่า Learning Outcome ที่ออกแบบไว้เป็นไปตามแนวคิด SMART(TT) หรือไม่
โดยแนวคิด SMART(TT) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.SPEAK TO THE LEARNER หมายถึง Learning Outcomeจะต้องระบุสิ่งที่ผู้เรียนสามารถทำได้ โดยมีความเฉพาะ ไม่กว้างเกินขอบเขตที่ทำได้จริง
2.MEASURABLE หมายถึง Learning Outcome สามารถวัดหรือสังเกตได้
3.APPLICABLE หมายถึง การบ่งชี้ว่าผู้เรียนจะพัฒนาความสามารถตาม Learning Outcome ได้อย่างไร
4.REALISTIC หมายถึง ผู้เรียนสามารถพัฒนาและแสดงออกซึ่งความสามารถตาม Learning Outcome ได้
5.TIME-BOUND หมายถึง Learning Outcome มีการกำหนดเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจน
6.TRANSPARENT หมายถึง Learning Outcome อ่านแล้วเข้าใจความหมายได้ง่าย
7.TRANSFERABLE หมายถึง Learning Outcome เป็นความสามารถที่มีประโยชน์กับบริบทอื่น ๆ
ส่วนที่ 2 Assessment
คือ การออกแบบการประเมินที่ผู้สอนจะต้องกำหนด Evidence of Learning หรือหลักฐานการเรียนรู้ และ Assessment Criteria หรือเกณฑ์การประเมิน เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปวัดประเมินผู้เรียนว่ามีสมรรถนะตรงตาม Learning Outcome ที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด
Evidence of Learning หรือหลักฐานการเรียนรู้ คือ ชิ้นงานหรือสิ่งที่ผู้เรียนจะทำออกมาหลังจากจบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสะท้อนความรู้ทักษะหรือคุณลักษณะ ตามที่ระบุไว้ใน Learning Outcome โดย Evidence of Learning สามารถเป็นได้ทั้งชิ้นงาน กระบวนการ หรือคุณลักษณะ
ทั้งนี้ 1 Learning Outcome ควรมีอย่างน้อย 1 Evidence และในขณะเดียวกัน 1 Evidence อาจตอบได้มากกว่า 1 Learning Outcome
Assessment Criteria คือ
เกณฑ์สำหรับการประเมินหลักฐานการเรียนรู้เพื่อตัดสินว่าผู้เรียนบรรลุตาม Learning Outcome หรือไม่ นอกจากนี้ยังใช้ในการให้ความหมายของเกรดต่าง ๆ ได้ เช่น เกรด C เป็นการระบุเกณฑ์การประเมินสำหรับผู้เรียนที่ผ่านการเรียนรู้ เกรด B และ A เป็นการระบุเกณฑ์สำหรับผู้ที่ผ่านการเรียนรู้ได้ดี และดีมากตามลำดับ
ส่วนที่ 3 Learning Activity
คือ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้บรรลุตาม Learning Outcome เช่น ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เรียน การฝึกปฏิบัติ เป็นต้น
การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ควรมีความหลากหลาย คำนึงถึงข้อจำกัด อาทิ เวลา ทรัพยากร สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ มีความต่อเนื่องและไล่ระดับการเรียนรู้ตามหลักการ ทฤษฎี และเอื้อให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะและแสดงหลักฐานการเรียนรู้ที่ผู้สอนกำหนดไว้ใน Assessment
โดยกิจกรรมการเรียนการสอนสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1. Direct instruction เป็นการส่งต่อข้อมูลโดยตรงจากผู้สอน เหมาะกับการสอนที่เป็นการถ่ายทอดข้อมูล หรือการอธิบายทีละขั้นตอน อาทิ การสอนบรรยาย, การสาธิต เอื้อให้ง่ายต่อการสอนเนื้อหา กฎ หรือระเบียบที่ถูกกำหนดไว้แล้ว หรือการสอนในระดับความจำและเข้าใจเบื้องต้น แต่ในการพัฒนาความสามารถ กระบวนการ ทัศนคติ หรือความเข้าใจในเนื้อหาระดับสูง ผู้สอนยังจำเป็นจะต้องใช้กลยุทธ์วิธีสอนที่หลากหลาย ที่สอดคล้องกับวิธีประเมินเพื่อให้ตอบโจทย์ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้
2. Indirect instruction เป็นรูปแบบการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสวงหาและสร้างความรู้ด้วยตัวเอง ผ่านการเชื่อมโยงความรู้และจัดระบบเรียบเรียงมาเป็นแนวคิดที่ตนเองเข้าใจ แล้วนำมาถ่ายทอดอย่างมีที่มาที่ไปและเหตุผลประกอบ เช่น การเรียนแบบสืบค้นหรือ, การเรียนแบบค้นพบ เป็นต้น
3. Experiential Learning เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการสังเกตหรือได้ลงมือปฏิบัติจริง เช่น ทัศนศึกษา, การจำลองสถานการณ์ ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นภาพและแนวทางในการประยุกต์ใช้ความรู้หรือการทำงานจริง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความสนใจ พัฒนาแนวคิด และเสริมทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่ได้เรียนมากขึ้น
4. Independent Study คือ การให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างอิสระในหัวข้อหรือประเด็นที่ตนสนใจ เริ่มตั้งแต่การกำหนดประเด็นปัญหาซึ่งอาจเป็น Public Issue เช่น ความปลอดภัยบนทางม้าลาย และ Global Issue เช่น โลกร้อน ความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการทำเรียงความ , รายงาน หรือโครงงานวิจัย เหมาะกับการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวหรือกลุ่มเล็ก
การเรียนแบบ Independent Study จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรับผิดชอบ เข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างดี และเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละคน โดยมีผู้สอนคอยแนะแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน
5. Interactive instruction เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ ตอบโต้กับการเรียนได้ เช่น Brainstorming , Role Playing Interactive instruction สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
Classroom Group Interaction เป็นการสร้างความมีส่วนร่วมทั้งชั้นเรียน เหมาะกับการใช้ตรวจสอบเรื่องทั่วไปในการเรียน เช่น ความรู้พื้นฐานของผู้เรียน บรรยากาศของชั้นเรียน หรือกระตุ้นผู้เรียน ผ่านกิจกรรมการถาม-ตอบ หรือการ Discussion
Small Group Interaction เป็นการสร้างความมีส่วนร่วมแบบห้องเล็กหรือกลุ่มย่อย เหมาะสำหรับใช้กระตุ้นการเรียนรู้เชิงวิชาการและพัฒนาทักษะทางสังคม เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมผ่านการพูด ฟัง หรือรับข้อมูลป้อนกลับได้อย่างทั่วถึงมากกว่า Classroom Group Interaction