การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)คืออะไร มีแนวทางการพัฒนาทักษะนี้อย่างไร

feather-calendarPosted on 16 พฤษภาคม 2024 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

Critical thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์

Critical Thinking มีคำเรียกในภาษาไทยว่า การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึง  ความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการไม่เห็นคล้อยตามข้ออ้างที่นำเสนอ แต่ตั้งคำถามหรือโต้แย้งข้ออ้างนั้น เพื่อนำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่สมเหตุสมผลมากกว่าข้ออ้างเดิม

ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์

  1. มีความสามารถไตร่ตรองแยกแยะข้อเท็จจริงได้ดีขึ้น

ข้อมูลในยุคดิจิทัลนั้นเข้าถึงได้ง่ายดาย ซึ่งอาจจะมีทั้งข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไป ปะปนมากับข้อมูลจริง ทำให้การเสพข้อมูลจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณของตนเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถแยกแยะข้อมูลจริง ออกมาจากข้อมูลเหล่านั้นได้

  • เพื่อให้มีความสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอนได้ดีขึ้น

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ก็เป็นอีกหนึ่ง Soft skills ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต โดยจะเห็นว่าการประกาศรับสมัครงานของบริษัทต่าง ๆ มักจะมีการใส่ทักษะนี้อยู่บ่อยครั้ง และสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ก็ได้ประกาศว่าทักษะนี้เป็น 1 ใน 10 ทักษะแห่งอนาคตที่เป็นที่ต้องการสูงในปี 2025 อีกด้วย

  • ช่วยให้สามารถออกจาก Comfort Zone เดิมและเกิดเป็นทักษะการเรียนรู้ตลอดเวลาได้

การคิดเชิงวิพากษ์เป็นกระบวนการคิดเพื่อให้ได้ข้อสรุป แนวทางในการตัดสินใจที่มีเหตุผล มี ทฤษฎีมารองรับ ไม่คล้อยตามต่อข้อมูลหรือปรากฏการณ์ใด ๆ โดยง่าย ผ่านการตั้งข้อสงสัย การตั้งคำถาม การค้นข้อมูลใหม่ และมีการถกเถียงกัน แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่ามีข้อมูลที่ดีที่สุดอยู่แล้วก็ตาม บุคคลที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นี้ จะเป็นคนกล้าคิด กล้ามองในมุมใหม่ กล้าออกจาก Comfort Zone หรือความเชื่อเดิม แม้การฝึกฝนทักษะนี้จะทำได้ค่อนข้างยาก แต่การพยายามพัฒนาทักษะนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเปิดรับ เปิดใจและเรียนรู้ได้

  • ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

การคิดวิพากษ์นับได้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” ของความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีการตั้งข้อสงสัย ไม่เชื่อสิ่งเดิม จะส่งผลให้มีการหาข้อมูล หาแนวทาง ข้อสรุปที่ดีกว่า จนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นได้

  • มุ่งสู่การเป็นผู้นำที่ดี

หากมีการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราสามารถพัฒนาคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดีได้ เช่น

  • มีทักษะการสื่อสารและการรับฟังที่ดี เพราะในทุกครั้งที่มีการถกเถียง โต้แย้งนั้น จำเป็นต้องมีการรับฟังข้อมูลจากอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
  • มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังที่กล่าวในข้างต้นไว้ว่าเมื่อมีการตั้งคำถาม ข้อสงสัยจะเป็นการกระตุ้นให้เปิดรับและเรียนรู้ได้
  • สามารถมอบหมายงานที่เหมาะสมแก่สมาชิกทีมได้ ด้วยการวิเคราะห์ เพื่อหาข้อสรุปจะทำให้คนเป็นผู้นำสามารถมองเห็นภาพรวมได้ครบทุกด้าน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้นำสามารถบริหารจัดการทีม และองค์กรได้ดี

5 ขั้นตอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิพากษ์

การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน โดยมีกระบวนการพัฒนา 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. ตั้งคำถาม (Formulate your Question) เมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น ให้มองในมุมอื่นที่แตกต่างออกไปจากเดิม หรือตั้งข้อสงสัยต่อเหตุการณ์นั้น โดยเหตุการณ์ที่เราควรวิพากษ์ก่อนสรุปมีดังนี้
  2. เป็นข้อสมมติที่ยอมรับกันทั่วไป แต่เรามีข้อสงสัย ไม่ปักใจเชื่อหรือไม่ยอมรับ เพราะปกติมนุษย์จะมีแนวโน้มเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามต่อที่สิ่งที่เกิดความเคยชินในวัฒนธรรม ระบบ ประเพณีแบบเดียวกัน ตัวอย่างเช่น มนุษย์เชื่อว่าโลกของเรามีลักษณะที่แบน หรือผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง
  3. ข้อคิดเห็นหรือข้อสรุปโดยมีการอ้างเหตุผลที่ต้องตรวจสอบความถูกต้อง โดยปกติการเสนอข้อคิดเห็น ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องใดก็ตาม มักจะมีการอ้างเหตุผลหรือหลักฐานสนับสนุนเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ โดยสิ่งที่ควรวิพากษ์คือเหตุผลหรือหลักฐานสนับสนุนนั้นเป็นความจริงหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือ หรือสอดคล้อง สมเหตุสมผลกับข้อคิดเห็น ข้อสรุปนั้นหรือไม่
  4. ข้อเสนอหรือทางเลือกที่จำเป็นต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจ โดยอาจจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ เช่น การเลือกอาหารที่เราจะทานในแต่ละวัน ว่าจะเลือกแค่ของที่อร่อยหรือจำเป็นต้องมีคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน ไปจนถึงเรื่องที่มีข้อมูลปริมาณมากหรือซับซ้อน ดังนั้นก่อนตัดสินใจ เราควรวิพากษ์ พิจารณา หาข้อมูล มาเป็นเหตุผลให้ครบถ้วนทุกด้าน
  5. ปัญหาที่เราจำเป็นต้องแก้ไขหรือตัดสินใจ บ่อยครั้งที่เกิดเหตุที่ไม่ได้คาดคิด ซึ่งจำเป็นต้องหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดมาแก้ไข หรือตัดสินใจว่าจะแก้ไขอย่างไร
  6. รวบรวมข้อมูล (Gather your information) เมื่อมีสมมติฐาน หรือคำถามใด ๆ ชัดเจนแล้ว ให้ดำเนินการค้นคว้าข้อมูลสนับสนุนในทุกด้าน โดยอาจจะเป็นการค้นคว้าจาก ตำรา งานวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความน่าเชื่อถือ
  7. ใช้ข้อมูลนั้น (Apply the information) เมื่อได้รับข้อมูลจากขั้นตอนที่ 2 ให้นำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ อย่างเป็นกลาง เพื่อแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความเชื่อ หรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือนออกจากกัน ก่อนจะทำการสังเคราะห์เป็นทางเลือก
  8. พิจารณาเงื่อนไข (Consider the implications) พิจารณาผลกระทบที่เกิดจากตัวเลือก หรือการตัดสินใจในทุกด้าน ข้อดี ข้อเสียที่เกิดขึ้น เช่น การเลือกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า แม้จะช่วยลดมลภาวะบนท้องถนนลงกว่ารถยนต์แบบสันดาป แต่ข้อเสียที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าจะมีอะไรอีกบ้าง
  9. สำรวจความเห็นอื่น ๆ (Explore other points of view) ลองพิจารณาตัวเลือกอื่น โดยเฉพาะตัวเลือกที่ขัดแย้ง หรืออยู่ด้านตรงข้าม ว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร หรือจะทำการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับทางเลือกที่ได้เลือกไป เพื่อให้เราสามารถพิจารณาได้ครบถ้วนที่สุด หรือสามารถพัฒนาตัวเลือกที่ดียิ่งขึ้นไปได้

แนวทางการพัฒนานิสัยตนเองเพื่อให้เกิดทักษะการวิพากษ์

  1. ฝึกวิพากษ์ความคิดตนเอง เพราะจะเป็นการลดอคติหรือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำได้โดยการตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อการตัดสินใจของเรา ว่ามีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้าง
  2. เปิดใจกว้าง คือการวางตัวให้เป็นกลาง ลดอคติ ไม่ลำเอียง เปิดใจถึงสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้ หรือสิ่งที่ยังไม่ถูกค้นพบ พยายามพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อค้นหาความจริง
  3. รอบคอบไม่ด่วนสรุป คือการชะลอการตัดสินใจ หรือการแสดงความคิดเห็นของเรา แล้วค้นคว้าหาความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ถี่ถ้วนก่อน
  4. มีสติไม่หวั่นไหวง่าย คือการมีสติมีสัมปชัญญะ ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นที่เข้ามาทำให้เราคล้อยตามอย่างไม่มีเหตุผลเชื่อข้อมูลที่ถูกบิดเบือน หรือเชื่อไปตามคนส่วนใหญ่
  5. แสวงหาความรู้เพื่อตอบข้อสงสัย การแสดงความคิดเห็น การมีทัศนคติ หรือตัดสินใจโดยไม่มีความรู้ อาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดง่าย
  6. อย่ารู้สึก “ฉันดีกว่า” หรือ “ฉันถูกต้องกว่า” เพื่อลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ความลำเอียง อคติ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ได้
  7. อย่าเลือกรับข้อมูลเฉพาะที่สนใจ ระลึกไว้เสมอว่าควรรับข้อมูลในทุกด้าน ทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่การเลือกรับข้อมูลที่สนใจ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาครบถ้วนที่สุด
  8. อย่าลำเอียง ตรงไปตรงมา ไม่ขึ้นต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่จำเป็นว่าฝ่ายที่มีอำนาจมาก หรือฝ่ายคนส่วนใหญ่ จะถูกต้องเป็นจริงเสมอไป
  9. อย่าแสร้งรู้ คนเรามีความเชื่อว่า “การไม่รู้ หรือ สารภาพว่าไม่รู้” จะทำให้เป็นคนไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเสียหน้าได้ แต่เมื่อต้องการวิพากษ์แล้วมีการแสร้งรู้จะส่งผลให้ไม่สามารถเปิดรับข้อมูล ความจริงใหม่ หรือเกิดความสับสนได้
  10. อย่ามีอคติต่อการเปลี่ยนแปลง ในทุกการเปลี่ยนแปลงมักจะทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคง ดังนั้นแนวโน้มคนส่วนมากมักจะไม่ชอบที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อต้องการวิพากษ์ในเรื่องใด การมีความรู้สึกไม่มั่นคงอาจเป็นข้ออ้างที่ทำให้เกิดความลำเอียงได้
  11. ระวังการคิดแบบสองขั้วตรงข้าม การคิดแบบนี้จะทำให้เรายึดเหนี่ยวในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างสุดโต่ง หรือมีความเชื่ออย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการวิพากษ์

วิธีการตอบสนองเมื่อถูกวิพากษ์

  1. ซื่อสัตย์ยอมรับความจริง โดยส่วนมากคนเรามักปฏิเสธความเห็นจากอีกฝ่าย หรือข้อมูลที่ขัดกับความเชื่อเดิม หรือทำให้เราเสียผลประโยชน์ แม้ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นความจริงก็ตาม แต่การวิพากษ์นั้นจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์ต่อความจริงเสมอ
  2. ถ่อมตัวถ่อมใจไม่ยึดมั่นถือมั่น มนุษย์ทุกคนจะมีอัตตา (Ego) อยู่แล้วเพราะจะทำให้เรามีความมั่นใจ อดทนต่อแรงกดดันจากสังคมได้ แต่หากมีมากเกินไปจะทำให้เย่อหยิ่ง และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นเราจำเป็นต้องควบคุมอัตตา เพื่อให้สามารถเปิดรับข้อมูลความจริงได้
  3. อย่าโต้แย้งแบบเบี่ยงประเด็น เมื่อเราเชื่อหรือยึดมั่นสิ่งใดแล้ว เรามักจะตอบสนองด้วยการโต้แย้ง เพื่อให้เราเป็นฝ่ายถูกหรือชนะอีกฝ่าย ซึ่งจะส่งผลให้เราไม่สามารถพิจารณาข้อมูลจากอีกฝ่ายได้เลย เราควรพิจารณาถึง หลักฐาน แหล่งอ้างอิงในเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามว่าสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือหรือไม่
  4. อย่าโจมตีตัวบุคคล เมื่อมีการวิพากษ์ขึ้น เราอาจจะมีความรู้สึกไม่พอใจอีกฝ่าย หากเราตอบโต้ด้วยการโจมตีตัวบุคคล เช่น คุณลักษณะ สถานะ ประสบการณ์ข้อผิดพลาดในอดีต อาจจะทำให้เราพลาดข้อมูลที่ดีจากความคิดเห็นของเขาได้
  5. กล้าที่จะเปลี่ยนความคิด การเป็นนักคิดวิพากษ์ที่ดีนั้น จะไม่ยึดติดกับความคิดใด ๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลง เขาจะต้องตระหนักไว้เสมอว่า หากพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง ก็สามารถทิ้งความคิดเดิมและเปลี่ยนความคิดต่อเรื่องนั้นได้เสมอ

อ้างอิง