เทคนิคการจัดกลุ่มผู้เรียนเพื่อการทำงานกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ

feather-calendarPosted on 5 เมษายน 2024 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

การแบ่งกลุ่มผู้เรียนสำหรับการทำงานกลุ่มหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นส่วนช่วยให้ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือเพื่อนร่วมกลุ่มเกิดปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เกิดการเรียนรู้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังความคิดเห็นจากมุมมองที่แตกต่าง รวมทั้งการฝึกฝนทักษะการบริหารจัดการการทำงานภายในกลุ่ม นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระในการจัดการชั้นเรียนของผู้สอนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้สอนควรมีกระบวนการจัดกลุ่มผู้เรียนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริบทของผู้เรียน บริบทของรายวิชา ทักษะที่ต้องการพัฒนา พื้นที่การเรียนรู้ ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายในกลุ่ม อาทิ การเกี่ยงงาน การไม่ช่วยเหลืองานภายในกลุ่ม การทะเลาะเบาะแว้ง ฯลฯ  โดยผู้สอนสามารถเลือกใช้เทคนิคการจัดกลุ่มที่แนะนำทั้ง 9 เทคนิค โดยมีการเปรียบเทียบจุดเด่นและข้อจำกัดไว้ ดังนี้

เทคนิคการจัดกลุ่มผู้เรียน

1. ผู้เรียนจัดกลุ่มด้วยตนเอง

กระบวนการ

ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนเลือกสมาชิกในกลุ่มด้วยตนเอง

จุดเด่น

  • ผู้เรียนเกิดความสบายใจ มีความอิสระเมื่อได้รับอนุญาตให้เลือกสมาชิกด้วยตนเอง โดยมักจัดกลุ่มกับเพื่อนสนิทที่สามารถพุดคุยกันได้ง่าย
  • มักไม่มีปัญหาในการทำงาน เนื่องจากเป็นการจัดกลุ่มที่เกิดจากมิตรภาพที่ดีของสมาชิกในกลุ่มและสมาชิกในกลุ่มมีความสนใจร่วมกัน
  • ง่ายต่อการบริหารจัดการสำหรับผู้สอน

ข้อจำกัด

  • ขาดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนกลุ่มสาขาวิชาอื่นหรือกลุ่มที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน
  • อาจไม่เหมาะกับรายวิชาที่ต้องการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์
  • ผู้เรียนบางคนที่ไม่สนิทกับเพื่อน อาจถูกละเลย
  • กระบวนการทำงาน การแก้ไขปัญหาภายในกลุ่มอาจคล้อยตามความคิดโดยส่วนใหญ่ของกลุ่ม ซึ่งจะปิดกั้นการแก้ไขปัญหาในวิธีการใหม่ ๆ ขัดขวางการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

กระบวนการเสริม

เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการจัดกลุ่มดังกล่าว และช่วยให้ผู้เรียนเกิดการกระจายกลุ่มมากขึ้น ผู้สอนสามารถตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น สมาชิกในกลุ่มจะต้องมีจำนวนผู้เรียนเพศชาย และเพศหญิง อย่างละเท่า ๆ กัน, ภายในกลุ่มให้มีหลายคณะ คณะเดียวกันไม่ควรมีจำนวนเกินครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

2. ผู้สอนกำหนดกลุ่มไว้ล่วงหน้า

กระบวนการ

ผู้สอนจัดกลุ่มผู้เรียนตามคุณลักษณะบางอย่าง เช่น คะแนนเฉลี่ย เพศ สถานะของผู้เรียน (ชาวไทย คนต่างชาติ) ภาควิชา สาขาวิชา เป็นต้น

จุดเด่น

  • ผู้สอนจัดเตรียมกลุ่มไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้ง่ายต่อการดำเนินการ
  • เป็นประโยชน์ในแง่ของการศึกษาวิจัย โดยผู้สอนสามารถกำหนดตัวแปร จัดกลุ่มผู้เรียนตามที่ต้องการศึกษา
  • เป็นการสร้างความสมดุลของสมาชิกภายในกลุ่ม

ข้อจำกัด

  • สำหรับขั้นต้นของการเรียน ผู้สอนต้องใช้เวลามากขึ้นในการรวมข้อมูลภูมิหลังของผู้เรียน
  • ผู้เรียนอาจไม่พึงพอใจในการจัดกลุ่ม เนื่องจากไม่สามารถเลือกสมาชิกในกลุ่มด้วยตนเอง

3. จัดกลุ่มแบบคู่ผสม

กระบวนการ

เป็นกระบวนการที่ผสมผสานระหว่างเทคนิคที่ 1 และ 2 โดยให้ผู้เรียนจับคู่กับเพื่อนก่อน จากนั้นผู้สอนทำการรวมคู่เข้าเป็นกลุ่มใหญ่ โดยอิงเกณฑ์ที่ผู้สอนกำหนดหรือจากการสุ่ม

จุดเด่น

  • ผู้เรียนจะมีเพื่อนที่สนิทอย่างน้อย 1 คนในทีม
  • ช่วยลดกระบวนการคิดแบบกลุ่มที่คล้อยตามกัน

4. จัดกลุ่มตามสภาพแวดล้อมการเรียนรู้

กระบวนการ

ผู้สอนให้ผู้เรียนจับคู่ จัดกลุ่ม โดยพิจารณาจากสถานการณ์และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ เช่น จัดกลุ่มตามแถว ตามโต๊ะที่นั่ง การจับคู่จากการหันซ้าย หันขวา หันหลัง

จุดเด่น

  • เหมาะกับการจัดกลุ่มแบบรวดเร็วในพื้นที่จำกัด 
  • ผู้สอนสามารถใช้สำหรับการจัดกลุ่มการทำงานที่สามารถยืดหยุ่นได้

ข้อจำกัด

  • ไม่เหมาะกับกระบวนการทำงานที่มีระยะยาวและใช้กระบวนการคิดซับซ้อน เพราะอาจขาดความสมดุลของสมาชิกภายในกลุ่ม

5. ใช้กิจกรรมสันทนาการในการจัดกลุ่ม

กระบวนการ

ผู้สอนใช้กิจกรรมสันทนาการเพื่อช่วยในการจัดกลุ่มผู้เรียน เช่น การแบ่งกลุ่มแพ้ ชนะจากการเล่นเกม, วัน เดือน ปีเกิด, เลขลงท้ายเบอร์โทรศัพท์, สิ่งที่ชอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมสันทนาการ เป็นต้น

จุดเด่น

  • ง่ายต่อการดำเนินการ
  • เหมาะกับการจัดกลุ่มแบบรวดเร็ว
  • ผู้เรียนสนุกสนาน มีความกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรม

ข้อจำกัด

  • ควบคุมจำนวนสมาชิกในกลุ่มค่อนข้างยาก ผู้สอนต้องแน่ใจว่าข้อมูลของผู้เรียนมีความกระจายตัวมากพอ
  • ผู้สอนควรมีทักษะการนำกิจกรรม

6. จัดกลุ่มแบบโต้วาที

กระบวนการ

ใช้กระบวนการโต้วาที มาประยุกต์ใช้ในการจัดกลุ่มผู้เรียน นั่นคือการจัดกลุ่มจากสองฝ่ายคือฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน จากความคิดเห็นที่ต่างกันของผู้เรียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และโต้วาจาตามเวลาที่กำหนด

จุดเด่น

  • สามารถใช้ในกระบวนการเรียนรู้ ที่ต้องการให้ผู้เรียนฝึกฝนทักษะการคิด รับฟัง แสดงความคิดเห็นแบบไม่ตัดสิน ผู้เรียนมีโอกาสรับฟังความคิดเห็นระหว่างกันทั้งที่คล้อยตามและแตกต่างกัน

ข้อจำกัด

  • ควบคุมจำนวนสมาชิกในกลุ่มค่อนข้างยาก

7. จัดกลุ่มแบบสุ่ม

กระบวนการ

ผู้สอนจัดกลุ่มให้ผู้เรียน โดยไม่มีลำดับ ระบบ หรือเกณฑ์ใด ๆ ซึ่งเทคนิคนี้ถือเป็นวิธีการจัดกลุ่มที่ยุติธรรมที่สุดเพราะผู้เรียนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการถูกมอบหมายเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยผู้สอนสามารถใช้อุปกรณ์ในห้องเรียนหรือเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในการสุ่ม เช่น การสุ่มจากใบจับฉลาก หรือการใช้แอปพลิเคชันวงล้อสุ่ม

จุดเด่น

  • ลดอคติทั้งจากผู้เรียนและผู้สอนที่ส่งผลต่อการจัดกลุ่ม
  • ผู้เรียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำงานร่วมกับเพื่อนที่ไม่สนิท

ข้อจำกัด

  • ผู้สอนไม่สามารถควบคุมการจัดกลุ่มให้มีความสมดุล เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่ควรคำนึงได้ อาทิ กรณีที่ผู้เรียนที่มีความสามารถสูงอยู่กลุ่มเดียวกัน และผู้เรียนที่มีความสามารถต่ำกว่าอยู่กลุ่มเดียวกัน ก็จะส่งผลต่อความเร็ว ความช้าของการทำงานได้
  • การจัดกลุ่มแบบสุ่มมักเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีสำหรับผู้เรียน

8. เลือกหัวหน้ากลุ่ม แล้วหาลูกทีม

กระบวนการ

ผู้สอนให้ผู้เรียนเสนอรายชื่อหัวหน้ากลุ่ม  จากนั้นให้หัวหน้ากลุ่มสรรหาลูกทีม ทั้งนี้ กรณีที่การทำงานกลุ่มใช้ระยะเวลานาน สมาชิกในทีมก็สามารถสลับบทบาทกันได้ เพื่อให้มีความสามารถในการทำงานที่หลากหลาย

จุดเด่น

  • ผู้เรียนทั้งห้องมีโอกาสได้เสนอชื่อหัวหน้ากลุ่มที่คิดว่าน่าเชื่อถือ มีความสามารถในการบริหารจัดการทีม และมีโอกาสเลือกสมาชิกในกลุ่ม

ข้อจำกัด

  • ผู้เรียนบางคนที่ไม่สนิทกับเพื่อน อาจถูกละเลย

9. ใช้บัตรเสี่ยงทาย

ตัวอย่างการนำไปใช้ของ อ.ธงชัย โรจน์กังสดาล ในรายวิชาการคิดเชิงนวัตกรรมหรือ Innovative Thinking วิชาการศึกษาทั่วไป (GenEd)

กระบวนการ

ผู้สอนให้ผู้เรียนหยิบบัตรนักศึกษาวางที่โต๊ะ และให้หยิบบัตรที่มีคณะไม่ซ้ำกันจำนวน 4 ใบ เพื่อทำงานกลุ่มร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้สอนมีการแจ้งให้ผู้เรียนทราบไว้ตั้งแต่ต้นเทอมแล้วว่าจะมีการทำงานกลุ่มที่สมาชิกในกลุ่มเป็นผู้เรียนจากต่างคณะ และให้ผู้เรียนนั่งโต๊ะที่ไม่ซ้ำเดิมในครั้งถัดไปเสมอ เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติของผู้เรียนก่อนเริ่มการเรียนการสอน นอกจากนี้เมื่อทำงานเสร็จสิ้นในคาบเรียนแล้ว ให้ผู้เรียนประเมินการมีส่วนร่วมของเพื่อนร่วมกลุ่มด้วย โดยคะแนนในภาพรวมจะมาจากครูผู้สอนและเพื่อนร่วมกลุ่ม

จุดเด่น

  • เหมาะสำหรับการจัดกลุ่ม 3-4 คน ในรายวิชาที่มีผู้เรียนหลายคณะ และต้องการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์
  • การทำ Peer – Group Assessment  ทำให้ผู้เรียนกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่มีปัญหาการทิ้งงาน

ข้อจำกัด

  • ผู้เรียนบางคนอาจกังวลใจที่ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนใหม่อยู่เสมอ

วิธีลดปัญหาการที่เพื่อนสมาชิกไม่ร่วมทำงานกลุ่ม

โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งกันในกระบวนการทำงานกลุ่มมักเกิดจากการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่สอดคล้องตามสัดส่วนการทำงานของสมาชิกในกลุ่ม โดยผู้สอนสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าวได้โดยมีคำแนะนำดังนี้

คำแนะนำสำหรับข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้สอน

  • ใช้การประเมินแบบ Peer – Group Assessment  โดยให้ผู้เรียนในกลุ่มประเมินการมีส่วนร่วมในการทำงานของสมาชิกในกลุ่ม
  • แจกแจงส่วนงานในแต่ละงาน โดยมอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนมีส่วนรับผิดชอบในส่วนงานย่อย และติดตามความก้าวหน้าของงานแต่ละส่วน
  • สมาชิกแต่ละคนมีโอกาสได้นำเสนอผลงานของตนเอง แม้ว่าวิธีนี้ผู้สอนจะใช้ต้องใช้เวลานาน และเป็นการเพิ่มภาระมากขึ้น แต่การนำเสนองานในแต่ละส่วนจะช่วยลดการทิ้งงานของสมาชิกในกลุ่มได้
  • มอบหมายงานที่น่าสนใจและมีความท้าทายด้วยเทคนิคการสอนและการประเมินต่างๆ เช่น  Problem-based Learning, Authentic Assessment หรือ Nested Learning Activities ซึ่งหากงานที่มีความท้าทายน้อย สมาชิกในกลุ่มหนึ่งหรือสองคนสามารถทำให้สำเร็จได้อย่างง่ายดาย ก็จะเพิ่มโอกาสการทิ้งงานของสมาชิกที่เหลือ วิธีการประเมินในรูปแบบนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในงานที่ได้รับมอบหมายเป็นระยะๆ ตลอดภาคการศึกษา ผู้สอนมีโอกาสได้ให้ผลสะท้อนกลับ (Feedback) แก่ผู้เรียนอยู่เสมอ และช่วยให้ผู้สอนสามารถประเมินการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่มได้เช่นกัน

การจัดกลุ่มแต่ละแบบ ล้วนมีทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดอยู่ ซึ่งผู้สอนสามารถเลือกใช้โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริบทของผู้เรียน บริบทของรายวิชา ทักษะที่ต้องการพัฒนา พื้นที่การเรียนรู้ ฯลฯ โดยจากงานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่พบว่า กลุ่มที่มีการจัดกลุ่มแบบผู้เรียนเลือกเองจะมีผลการเรียนที่ดีกว่า เนื่องจากผู้เรียนมีความมุ่งมั่นมากขึ้น กระตือรือร้นกับการทำงานกลุ่ม และมีการสื่อสารภายในกลุ่มที่ดี  อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีความแตกต่างกันจะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความหลากหลายในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้นผู้สอนควรเลือกวิธีจัดกลุ่มให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  • Kifle, T., & Bonner, S. (2023, June 12). Successful group work is all in the selection process. Time Higher Education.จาก https://www.timeshighereducation.com/campus/successful-group-work-all-selection-process
  • Plook Teacher (2019, March 27). วิธีในการจัดเรียงนักเรียนเพื่อทำงานกลุ่ม. True Plook Panya. จาก https://www.trueplookpanya.com/education/content/72362/-teaartedu-teaart-teamet-

ธงชัย โรจน์กังสดาล (2019, June 21). วิธีจัดกลุ่มผู้เรียนในมหาวิทยาลัย. Medium.จาก https://thongchairoj.medium.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2-fcc9b9a51c45