การสร้างห้องเรียนเพื่อพัฒนา Growth Mindset

feather-calendarPosted on 5 กันยายน 2024 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

เรียบเรียงโดย นายไพฑูรย์ อนันต์ทเขต นักพัฒนาการศึกษา

จากการวิจัยเกี่ยวกับ Mindset พบว่า ผู้ที่มีชุดความคิดแบบเติบโตหรือ Growth Mindset นั้นจะมีความต้องการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ดี โดยในบทความนี้จะนำเสนอแนวทางการการพัฒนา Growth Mindset ในชั้นเรียนเพื่อให้ครูผู้สอนได้นำไปปรับใช้กับห้องเรียนของตนเอง

ในระบบการศึกษาหรือสถานศึกษา ครูนั้นจะมีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ มอบประสบการณ์เรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน โดยการสอนของครูผู้ยึดหลัก Growth Mindset จะส่งอิทธิพลต่อศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในทางที่ดีกว่าครูที่มี Fixed Mindset

         ดังนั้นก่อนจะพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ครูต้องมีความเข้าในลักษณะ Mindset ทั้งสองแบบและยังจำเป็นต้องพัฒนา Mindset ของตนเองด้วย ในเบื้องต้นครูจำเป็นต้องสำรวจตนเองก่อนว่าอยู่ท่ามกลางความคิดแบบใด โดยผ่านแบบสำรวจชุดความคิด ดังลิงก์ https://forms.gle/xB9MVj1oce8f52Mg8

            การสำรวจและการพัฒนา Mindset ของครูนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ครูกำจัด Fixed Mindset ให้หมดไป เพราะแต่ละคนนั้นก็จะมี Mindset ทั้งสองแบบอยู่ในตัวเสมอ แต่ความเข้าใจและการยึดหลักของ Growth Mindset จะเป็นตัวช่วยเมื่อครูมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมในแบบของ Fixed Mindset ซึ่งการตระหนักหรือการทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอจะสามารถถ่ายทอดหลักของ Growth Mindset ไปยังนักเรียนได้ รวมทั้งยังสามารถพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียน และคนรอบข้างได้

ความท้าทาย คือแก่นสำคัญของ Growth Mindset การปล่อยให้นักเรียนมีโอกาสได้ลองผิดลองถูก เรียนรู้ที่จะล้มเหลวและลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ได้ก้าวหน้า เติบโตขึ้น แทนที่จะเป็นการประสบความสำเร็จในเรื่องง่าย ๆ ตลอดเวลา และมองว่าเป็นคนฉลาดไม่เคยล้มเหลวเลย  ดังนั้นจึงควรปรับเอาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ด้วยการทำ 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ โดยการแจ้งแก่นักเรียนว่า ในการเรียนรู้นั้นความผิดพลาดจะเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งตัวครูจะต้องเปลี่ยนมุมมอง หรือทำให้เรื่องผิดพลาดนั้นเป็นปกติ เช่น เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็สอบถามความเห็นนักเรียน ถึงสาเหตุของข้อผิดพลาดนั้นแทนการตำหนิ
  2. ความผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ในทุกการเรียนรู้เมื่อเกิดข้อผิดพลาดใด ๆ ขึ้นมา ครูควรเปลี่ยนการลงโทษ มาเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุย หาสาเหตุดังข้อ 1 พร้อมกับการหาข้อมูล เรียนรู้ และวางแผนแก้ไข รับมือต่อไปในอนาคตแทน
  3. แนะนำให้นักเรียนก้าวผ่านความล้มเหลว แม้ว่าข้อผิดพลาดนั้นจะทำให้นักเรียนหาทางแก้ไม่ได้ หรือเกิดความล้มเหลว ความลำบากใจขึ้น จุดสำคัญคือ “ห้ามแก้ไขปัญหาให้” เพราะจะเป็นการตัดโอกาสที่นักเรียนจะได้เรียนรู้และรับมือกับความล้มเหลวไป ดังนั้นครูควรต้องสนับสนุน กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความพยายาม ความมั่นใจ ผ่านการให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้เรียนได้คิดทบทวน แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง

แคโร ดเว็ก (Carol Dweck) กล่าวว่าการตั้งเป้าหมายมี 2 รูปแบบ คือ เป้าหมายในการประเมิน เช่น การสอบได้เกรด A และเป้าหมายในการเรียนรู้ เช่น การพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งโดยทั่วไปคนเราจะตั้งเป้าหมายทั้ง 2 รูปแบบนี้อยู่แล้ว แต่จะมีเพียงเป้าหมายในการเรียนรู้เท่านั้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองจนเชี่ยวชาญได้

โดย แคโรล เอมส์ (Carole Ames) ได้พัฒนาระบบ TARGET ซึ่งเป็นระบบเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมในห้องเรียนว่านักเรียนได้รับการจูงใจให้ตั้งเป้าหมายการวัดประเมินหรือเป้าหมายการเรียนรู้มากกว่ากัน โดยพิจารณาจาก 6 ปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยเป้าหมายในการเรียนรู้เป้าหมายในการประเมิน
Task (แบบฝึกหัด) ประเภทของแบบฝึกหัด และกิจกรรมการเรียนรู้ ระดับความเข้มงวด การมีส่วนร่วม และผลการเรียนรู้ที่ได้นักเรียนได้รับแบบฝึกหัดที่ท้าทายตามระดับความสามารถ มีความหลากหลายทั้งด้านกระบวนการ ผลลัพธ์ นักเรียนให้ความสนใจสูง รวมทั้งรับรู้ถึงวัตถุประสงค์และคุณค่าของแบบฝึกหัดเป็นแบบฝึกหัดที่ง่าย เน้นการวัดผล คะแนน มีแบบฝึกหัดที่ปรับตามความต้องการของนักเรียนน้อย
Authority (อำนาจตัดสินใจ) บทบาทของนักเรียนในการตัดสินใจ ผู้ออกแบบและผู้นำในการทำกิจกรรมในชั้นเรียนการเรียนการสอนจะนำโดยผู้เรียน ครูทำหน้าที่กระตุ้นการตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ นักเรียนได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำการเรียนการสอนในชั้นเรียนครูแจกแจงวิธีการทำแบบฝึกหัดอย่างชัดเจน นักเรียนมีส่วนร่วมตัดสินใจน้อย
Recognition (การยอมรับ) วิธีการและเหตุผลในการได้รับรางวัลหรือการยอมรับนักเรียนจะได้โอกาสทดลองทำสิ่งที่ท้าทายและสร้างสรรค์ นักเรียนจะได้รับรางวัลหรือการยอมรับจากความพยายาม ทักษะ ความรู้ที่เพิ่มขึ้น หรือการบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้นักเรียนจะได้รางวัลหรือการยอมรับจากการทำแบบฝึกหัด ได้ถูกต้องสมบูรณ์ และเสร็จตามกำหนด
Grouping (การจัดกลุ่ม) วิธีการจัดแบ่งกลุ่มนักเรียนในการทำกิจกรรมกลุ่มกลุ่มของนักเรียนมีคุณลักษณะที่หลากหลาย แตกต่างกันทั้งแนวทาง กลวิธี ระดับความสามารถ โดยนักเรียนจะได้รับการส่งเสริมให้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่แบ่งกลุ่มให้นักเรียนมีคุณลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน ไม่ค่อยหลากหลาย เช่น ระดับความสามารถ และมักคงที่ นอกจากนี้ยังเน้นการแข่งขันกันภายในกลุ่มหรือระหว่างกลุ่ม
Evaluation (การประเมิน) แนวทางในการประเมินผลงานนักเรียน การประเมินกระบวนการ ทักษะ ความรู้การประเมินจะดูจากพัฒนาการและความก้าวหน้าด้านทักษะเป็นรายบุคคลเป็นการประเมินเพื่อตัดสิน มีการเปรียบเทียบกันระหว่างบุคคล
Time (ระยะเวลา) การวางแผน กำหนดการในการเรียน การทำกิจกรรม และแบบฝึกหัดนักเรียนจะได้รับแรงจูงใจให้เรียนรู้ตามระดับความสามารถและจังหวะในการเรียนของตัวเอง กำหนดการสามารถยืดหยุ่นได้เพื่อสอดรับกับช่องว่าง หรือเพื่อพัฒนาความสามารถมีกรอบเวลาที่เข้มงวด ชัดเจน และทุกคนต้องทำตามกำหนดการเดียวกัน ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถ จังหวะการเรียนรู้ ให้คุณค่ากับความรวดเร็วมากกว่าความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น

ดเว็ก เห็นว่าการที่นักเรียนได้เรียนรู้ตามความต้องการหรือความสนใจของตนเองเป็นอีกวิธีที่ดีเยี่ยมในการมอบหมายงานที่ท้าทายและยังมีคุณค่ากับนักเรียน โดยนักเรียนจะมีความผูกพัน รู้สึกเป็นเจ้าของผลงานนั้น พร้อมทั้งมีแรงกระตุ้นให้ทุ่มเทเพื่อให้เรียนรู้ในเรื่องนั้นได้สำเร็จ เรามีวิธีที่จะให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองมาแนะนำทั้งหมด 4 วิธี ดังนี้

  1. แบ่งเวลา 20 เปอร์เซ็นต์ ของเวลาเรียนทั้งหมด เพื่อให้นักเรียนได้ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ค้นคว้าหัวข้อที่ตนเองสนใจ หรือได้ลงมือทำโปรเจคที่สนใจ
  2. โปรเจคในฝัน ให้นักเรียนได้เป็นผู้กำหนดโจทย์ หัวข้อโปรเจคด้วยตัวเอง รวมถึงการคิดกระบวนการทำงาน ค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง อีกทั้งยังต้องทบทวนบทเรียนจากอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำโปรเจคและแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับผู้อื่นด้วย
  3. ชั่วโมงอัจฉริยะ จัดสรรเวลาประมาณ 1 ชม. ต่อสัปดาห์เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสค้นคว้าความรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจ ชื่นชอบ โดยมีครูเป็นผู้คอยแนะนำ สนับสนุนตลอดเวลา
  4. การเรียนแบบเสาะหาความรู้ ครูจะเป็นผู้ตั้งคำถาม หรือกำหนดประเด็นเพื่อเชิญชวนให้นักเรียนในชั้นเรียนค้นคว้า และสรุปองค์ความรู้ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ตอบคำถามจากครูด้วยตนเอง

            ดเว็ก ได้ศึกษาเอาไว้ว่า การให้คำชมนั้นสามารถเป็นได้ทั้งแรงเสริมและกับดักต่อการพัฒนาชุดความคิดแบบเติบโต โดยคำชมที่จะเป็นกับดักนั้นมักจะเป็นการชมไปถึง ตัวบุคคล ระดับสติปัญญา และไม่มีความชัดเจน เช่น เธอเก่งมาก ดีมาก เยี่ยม เป็นต้น

            การกล่าวชมที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นการชมไปที่กระบวนการ ความพยายาม หรือการกระทำที่จะส่งผลให้นักเรียนสามารถบรรลุความคาดหวังที่ครูได้ตั้งไว้ เช่น เธอมีความตั้งใจ พยายามในการแก้ไขโจทย์ด้วยวิธีที่หลากหลายดีนะ 

            เช่นเดียวกันการวิจารณ์หรือให้คำแนะนำที่ไม่ส่งผลให้เกิด Growth Mindset ก็จะเป็นกลุ่มที่มุ่งไปที่คุณสมบัติส่วนบุคคล ไม่ชัดเจน เช่น เธออาจจะไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้  นี่เป็นสิ่งที่เธอไม่ถนัด หรือเธออาจจะยังทำดีไม่พอ เป็นต้น ดังนั้นการวิจารณ์ หรือให้คำแนะนำที่ดีจะต้องมุ่งไปที่กระบวนการ หรือเป็นการตั้งคำถาม ตั้งประเด็นให้ฉุกคิดถึงวิธีการที่จะสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ เช่น ให้พยายามทำสิ่งนี้ต่อ มันจะชำนาญขึ้นไปเรื่อย ๆ  หรือเธอได้เรียนรู้อะไรในครั้งนี้บ้าง และครั้งต่อไปตั้งใจจะทำอย่างไรต่อ เป็นต้น

            นอกจากนี้สิ่งที่ดีกว่าการให้คำชื่นชมหรือคำวิจารณ์หลังจากจบกิจกรรมไปแล้วนั้น ก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ผู้เรียนทำ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน และคอยถามคำถามถึงสิ่งน่าสนใจแก่ผู้เรียน เช่น ข้อผิดพลาด แนวคิดที่น่าสนใจ กระบวนการที่สร้างสรรค์ พูดคุยกับนักเรียนถึงวิธีคิดและวิธีเรียนรู้ด้วยตนเอง

            นอกเหนือจากการทำแบบทดสอบ ยังสามารถใช้กลวิธีประเมินแบบอื่น ๆ ที่เน้นการพัฒนาชุดความคิดแบบเติบโตได้ ดังนี้

  • ใบสั่งยา หลังการเรียนรู้และทำแบบประเมินผลระหว่างเรียน ให้นักเรียนเขียนแผน วิธีการปรับปรุงพัฒนาตนเองในประเด็นหรือเนื้อหาที่ยังติดขัด
  • ประเมินเพื่อนร่วมชั้น ให้นักเรียนกล่าวติชม ให้คำแนะนำถึงกระบวนการทำงานของเพื่อนเพื่อให้นำไปปฏิบัติ หรือใช้พัฒนาตัวเองได้ต่อไป
  • ใช้สื่อดิจิทัลติดตามความคืบหน้า ใช้ Google Slide หรือ Google Doc ในการติดตาม สอบถาม ให้ข้อเสนอแนะระหว่างการทำโจทย์ แบบฝึกหัด หรือคิดค้นโครงงาน โครงการ
  • Application Nearpod เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสื่อการเรียนรู้จากครูไปยังนักเรียน (https://nearpod.com/)
  • แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนร่วมห้อง ให้นักเรียนอธิบายวิธีการเรียนรู้ ความเข้าใจเนื้อหาและเรื่องที่ยังเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจให้เพื่อนฟัง โดยอาจารย์จะเป็นเพียงผู้ฟังและนำข้อมูลไปใช้ปรับการสอน
  • กิจกรรมกลุ่มย่อย ใช้กลุ่มย่อยในการประเมินความเข้าใจของนักเรียน เปิดให้ถามข้อสงสัยหรือตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง และอาจารย์ได้สอนทวน อธิบายเพิ่มเติมให้แก่นักเรียน
  • แบ่งประเภท การให้นักเรียนได้แบ่งประเภท เช่น คำศัพท์ นิยาย ภาพ ฯลฯ จะช่วยให้อาจารย์เห็นถึงความเข้าใจในเนื้อหาของนักเรียนได้
  • ฐานการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่จัดไว้ตามฐาน
  • ระบบบริการรวบรวมความคิดเห็นแบบดิจิทัล เป็นการรวบรวมข้อมูลหรือประเมินความเข้าใจโดยการใช้ Application เช่น Clickers, Socrative Teacher, Polls Everywhere etc.
  • แบบสำรวจความเห็นหลังเรียน (Exit Ticket) ก่อนแยกย้ายหลังจบการเรียน จะให้นักเรียนตอบคำถามสักหนึ่งข้อหรือมากกว่า เช่น ฉันได้เรียนรู้ว่า?….. ฉันยังสงสัย?….
  • ประเมินตนเอง ให้นักเรียนประเมินความรู้ความเข้าใจของตนเอง ผ่านแบบสำรวจระดับการเรียนรู้
  • แผนผังความคิดหรือโมเดล ใช้แผนผังความคิด (Mind Mapping, Visual Note, ภาพโมเดล, แผนผัง) ในการจัดเรียงเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ไป นอกจากนี้ยังใช้ตรวจสอบความเข้าใจพื้นฐานก่อนเรียนได้อีกด้วย
  • ไฮไลท์จุดสำคัญ ครูไฮไลท์ลงบนงาน แบบฝึดหัด ของนักเรียนในจุดที่ผิดพลาด จุดที่ยังสงสัย หรือต้องการให้นักเรียนอธิบาย ค้นคว้าเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น หรือแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น

ในปัจจุบันระบบการศึกษาจะยังไม่สามารถทำให้ระดับผลการศึกษาหรือ เกรด หายไปได้ แต่ก็มีกลวิธีที่จะช่วยให้เกรดหรือผลตัดสินนี้สะท้อนถึงระดับการเรียนรู้ปัจจุบันและช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพและชุดความคิดแบบเติบโตได้ ดังนี้

  • เปลี่ยนเป็นเกณฑ์วัดแบบอื่น ใช้คำอื่นแทนการตัดเกรดด้วยตัวอักษร A-F เช่น มีความก้าวหน้า มีพัฒนาการ ยังไม่ผ่านเกณฑ์
  • เกณฑ์การประเมิน มีรายละเอียดของเกณฑ์วัดประเมินเพื่อตัดสินที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นถึงเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองมากกว่าผลลัพธ์หรือคะแนนที่ได้รับ
  • รายงานผลการเรียน เป็นการเขียนรายงานอธิบายถึงผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนใช้ การพัฒนาต่อยอด โดยจะนำมาใช้ประกอบเพิ่มเติมกับการตัดสินด้วยเกรดปกติ
  • การประชุม มีการจัดประชุมระหว่างครู ผู้ปกครอง และนักเรียนโดยในการประชุมนี้จะมีการให้ผู้เรียนได้บอกเล่าเป้าหมาย กระบวนการเรียนรู้ อุปสรรค และความก้าวหน้าของตนเอง การทำแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้ครู ผู้ปกครองสนใจประสบการณ์ ข้อมูล ข้อคิดเห็นของนักเรียนมากกว่าคะแนนและเกรด

อีกหนึ่งสิ่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญให้นักเรียนคนหนึ่งเติบโตขึ้นได้นั้นคือ “สิ่งแวดล้อมแบบฟูมฟัก” ประกอบด้วยด้วยสมการ ดังนี้

สิ่งแวดล้อมแบบฟูมฟัก คือ การสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้นักเรียนรู้สึกว่าได้รับการเอาใจใส่ ดูแล สนับสนุนเมื่อเขาผิดพลาดล้มเหลวจนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนั้นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าครูจะต้องคอยเอาอกเอาใจจนละทิ้งกฎเกณฑ์ทั้งหมดไป ซึ่งสภาพแวดล้อมแบบฟูมฟักจะมีลักษณะดังนี้

  1. ความผิดพลาดถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ นักเรียนจะได้รับโอกาสแก้ตัวเป็นครั้งที่สองหรือสาม ไม่ใช่ไม่มีบทลงโทษเลย หรือลงโทษแบบไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน
  2. นักเรียนรักครูเพราะครูคอยสนับสนุนพวกเขาให้ทำสิ่งที่ท้าทายและพร้อมตอบสนองความต้องการของนักเรียน ไม่ใช่ตามใจนักเรียนไปทั้งหมด หรือเกรงกลัวอำนาจของครูจนไม่กล้าทำอะไร
  3. ครูเชื่อว่านักเรียนสามารถประสบความสำเร็จได้ในทุกรายวิชาหากพยายามและฝึกฝน ไม่ใช่ตีตราว่าไม่มีพรสวรรค์ในบางวิชาและปล่อยผ่านไป
  4. นักเรียนสามารถจัดการการเรียนรู้ของตัวเองได้และได้รับการสนับสนุนให้ท้าทายตนเอง ครูจึงเปรียบเสมือนผู้อำนวยความสะดวกและนำทาง ไม่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเกินไปจนนักเรียนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือยึดมั่นในกฎเกินไปและมองนักเรียนที่ทำตัวแตกต่างว่าไม่ให้ความร่วมมือ

โดยการจะสร้างสิ่งแวดล้อมแบบฟูมฟักขึ้นมาได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียนด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันการออกแบบการเรียนการสอนที่มีความคาดหวังเหมือนกัน มีวิธีการสอนแบบเดียวกัน แบบฝึกหัดที่เหมือนกัน และมีเวลาให้นักเรียนทำจนสำเร็จเท่า ๆ กัน ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียน แต่เป็นแบบฝึกหัดที่ท้าทายความสามารถ หรืองานที่มีความหมาย เพื่อให้ได้ใช้ ความรู้ ทักษะ ตามระดับที่เหมาะสม จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ นักเรียนถึงจะเติบโตได้ แม้ว่านักเรียนอาจจะไม่ได้ชอบงานที่ท้าทายนั้นก็ตาม ซึ่งครูจึงต้องสื่อสารกับนักเรียนถึงความหมาย วัตถุประสงค์ และคุณค่าของงานนั้น ๆ หากทำไม่ได้ก็ไม่ควรที่จะมอบหมายงานนั้น

ต่อไปนี้คือคำถามสำหรับตรวจสอบตัวครูเองว่าแผนการสอนที่ออกแบบอยู่นั้นท้าทายสำหรับนักเรียนทุกคนหรือไม่

  • นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในงานหรือไม่
  • ได้ออกแบบสื่อการสอนที่มีระดับความยากง่ายแตกต่างกันหรือยัง
  • นักเรียนได้รับการสนับสนุนให้กล้าทำสิ่งที่ท้าทายหรือไม่
  • ฉันจะประเมินได้อย่างไรว่านักเรียนกล้าทำสิ่งที่ท้าทายและเอาชนะอุปสรรคดังกล่าวได้สำเร็จ
  • เตรียมสนับสนุนอะไรไว้บ้างเมื่อนักเรียนต้องเผชิญกับอุปสรรค
  • นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าในกระบวนการเรียนการสอนหรือไม่
  • ฉันที่เป็นครูจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้นักเรียนแต่ละคนบรรลุเป้าหมายในการเรียน
  • ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่านักเรียนมีส่วนร่วมในงานที่ท้าทายจริงหรือไม่ และต้องดูจากปัจจัยใด
  • ตอนนี้มีแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้อะไรอยู่บ้าง จำเป็นต้องหาเพิ่มเติมหรือไม่
  • ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการคืออะไร ฉันจะประเมินได้อย่างไรว่านักเรียนเข้าใจเนื้อหาแล้วหรือยัง
  • หากนักเรียนไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้จะทำอย่างไร
  • ฉันจะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสงสัยใคร่รู้ได้อย่างไร
  • ฉันจะแนะนำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมได้อย่างไร
  • ฉันรู้หรือไม่ว่านักเรียนชื่นชอบการเรียนรู้รูปแบบใด
  • การสนับสนุนใดจำเป็นต่อการช่วยให้นักเรียนเติบโต
  • ฉันจะปรับแบบฝึกหัดและงานที่มอบหมายให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนได้อย่างไร
  • ฉันตั้งเกณฑ์ความคาดหวังกับนักเรียนในชั้นเรียนให้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ และทำงานกลุ่มย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพพอแล้วหรือยัง
  • นักเรียนให้คำแนะนำเพื่อนร่วมชั้นอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันได้หรือไม่
  • ฉันเชื่อหรือไม่ว่านักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้

ซึ่งหากคำถามเหล่านี้มีแนวโน้มของคำตอบเป็นรูปแบบเดียวหรือไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก หมายความว่าอาจจะมีนักเรียนบางคนหรือหลายคนกำลังเรียนรู้ หรือถูกท้าทายด้วยแบบฝึกหัดที่ไม่ได้เหมาะสมกับตนเองอยู่

            มานู คาพูร์ (Manu Kapur) ได้ทำการศึกษาและสรุปแนวทาง 6 ข้อ สำหรับสร้างโจทย์ หรือแบบฝึกหัดที่ท้าทายและเอื้อให้นักเรียนฝ่าฟันอุปสรรคได้ ดังนี้

  1. ปัญหาหรือโจทย์ควรท้าทายความรู้ ทักษะ แต่ต้องไม่ถึงกับยากจนสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ
  2. ปัญหาหรือโจทย์ควรมีวิธีแก้หลายวิธีเพื่อให้นักเรียนได้ลองเสนอไอเดีย วิธีการต่าง ๆ ดังนั้นโจทย์ที่มีวิธีการเดียวจะไม่เหมาะสม
  3. โจทย์และการสอนควรกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความรู้เดิมและความรู้ใหม่ในการแก้ปัญหาด้วย ไม่ควรเป็นโจทย์ที่ใช้เพียงความรู้เดิมก็แก้ปัญหาได้
  4. นักเรียนต้องมีโอกาสที่จะอธิบายและขยายความวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาที่พวกเขาใช้
  5. นักเรียนควรมีโอกาสทดลองวิธีการแก้โจทย์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผลหรือไม่ได้ผล
  6. ปัญหาหรือโจทย์ควรเกี่ยวข้องกับเนื้อหาและดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้

จากการทดลองของโรเซนธาล (Lindsay Rosenthal) พบว่าการตั้งความหวังที่สูงและครูแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนว่าจะสามารถบรรลุความคาดหวังนั้นได้ ผ่านคำพูดและภาษากายทั้งแบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงขึ้นได้ โดยโรเซนธาลได้สรุปถึง ปัจจัย 4 ข้อที่จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนประสบความสำเร็จไว้ ดังนี้

  • บรรยากาศ หมายถึง การที่ครูสร้างบรรยากาศ สร้างความคุ้นเคย และสร้างพื้นที่ปลอดภัยกับนักเรียน
  • สิ่งที่ให้ หมายถึง การที่ครูทุ่มเททรัพยากรผ่านการกระทำ กระบวนการพัฒนาศักยภาพแก่นักเรียน พร้อมทั้งบอกความคาดหวังที่ตั้งเอาไว้
  • สิ่งที่ได้ หมายถึง การมอบโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ ลงมือทำ โดยครูต้องเชื่อมั่นว่านักเรียนจะบรรลุความคาดหวังนั้นได้
  • คำติชม หมายถึง การให้คำชมหรือคำแนะนำที่มีคุณภาพในตอนที่มีความเปลี่ยนแปลงจนกว่านักเรียนจะบรรลุความคาดหวัง
  • Annie Brock and Heather Hundley. (2565). คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset [The Growth Mindset Coach] (ฐานันดร วงศ์กิตติธร, แปล). กรุงเทพฯ: Bookscape. (ต้นฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. 2559).
  • The teacher toolkit. Exit Ticket, จาก https://www.theteachertoolkit.com/index.php/tool/exit-ticket.
  • The Education Hub. How to help students develop a ‘Growth Mindset’, จาก https://www.theeducationhub.org.nz/wp-content/uploads/2019/08/How-to-help-students-develop-a-growth-mindset_amd.pdf