แนวทางการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนเพื่อพัฒนา Growth Mindset

feather-calendarPosted on 23 กรกฎาคม 2024 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

เรียบเรียงโดย นายไพฑูรย์ อนันต์ทเขต นักพัฒนาการศึกษา

Carol Dweck นักวิชาการด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ศึกษาวิจัย และพบว่า สติปัญญา ความคิดสร้างสร้างสรรค์ และทักษะทางกีฬาไม่ใช่คุณสมบัติตายตัวที่มนุษย์มีมาแต่กำเนิด แต่สามารถแปรผันไปตามเวลาและความพยายาม โดยได้นิยามว่า ชุดความคิด (Mindset) หมายถึง มุมมองทางความคิดของตนเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

ชุดความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) หมายถึง ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมสติปัญญา ความสามารถ หรือพรสวรรค์ที่ตายตัว ไม่สามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นได้

ชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) หมายถึง ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เราสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างไม่จำกัดด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนและความเพียรพยายาม

ไม่ว่าความสามารถของคุณจะเป็นอะไร ความพยายามคือตัวจุดประกายให้กับความสามารถนั้นและเปลี่ยนมันเป็นความสำเร็จ Carol Dweck

            จากการศึกษาวิจัยของ Jeffrey Liew พบว่าความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูและนักเรียน จะช่วยเรื่องความมุ่งมั่นเชิงวิชาการ ความเชื่อมั่นในทักษะการเรียนรู้ และส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยของ Jan N. Hughes ก็แสดงให้เห็นอีกว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนยังช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและเพื่อนร่วมชั้น และมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและงานที่ได้รับมอบหมายอีกด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า “ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูและนักเรียน” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา Growth Mindset ของนักเรียน เพราะนักเรียนจะต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้ผ่านแบบฝึกหัดที่ท้าทายความสามารถ ซึ่งอาจจะพบทั้งความล้มเหลว ผิดพลาด จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายการเรียนที่ครูตั้งเอาไว้

1. นักเรียนตระหนักว่าครูเชื่อมั่นว่าพวกเขาไปถึงเป้าหมายได้  หลักสำคัญของ Growth Mindset คือนักเรียนต้องเชื่อว่ามีความสามารถพอที่จะไปถึงเป้าหมายได้ด้วยความพยายาม อดทน มุ่งมั่น ซึ่งการจะให้นักเรียนเชื่อมั่นได้นั้นครูจะต้องมีความเชื่อมั่นเช่นกันและควรหาโอกาสแสดงให้เห็นในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมในความพยายาม หรือการให้คำแนะนำที่จำเป็นต่อนักเรียน

2. นักเรียนเคารพและชื่นชมครูในฐานะบุคคลคนหนึ่ง วิธีการที่ดีวิธีหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียนคือการใส่ใจความเป็นอยู่ ความชอบส่วนตัว หรือเรื่องราวสัพเพเหระทั่วไป นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่รับผิดชอบสอนอยู่ อาจมีการแลกเปลี่ยนทัศคติผ่านเรื่องราวของครูให้นักเรียนในโอกาสนี้ด้วยก็ได้ และเมื่อมีการพูดคุยกัน ครูก็จะได้รับข้อมูลมากขึ้น ได้เห็นความเป็นอยู่พื้นฐานที่แตกต่างกันของนักเรียน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการปรับการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนได้

3. นักเรียนต้องการและรับฟังข้อเสนอแนะจากครู หากมีความสัมพันธ์ที่ดีหรือนักเรียนเชื่อว่าครูหวังดีกับตัวเขาจริง เมื่อได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ คำแนะนำ หรือการติชม ก็จะมีการตอบสนองในทางที่เป็นประโยชน์ มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตัวเอง ไม่ต้องคอยแก้ตัว ในทางตรงข้ามเมื่อนักเรียนไม่เปิดใจยอมรับคำแนะนำ คำติชม อาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าครูต้องพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ว่าการติชม การวิพากษ์วิจารณ์นั้นมาจากความใส่ใจ อยากสนับสนุนเขา ไม่ใช่การตีตรา ตัดสินเขาอย่างเดียว

4. นักเรียนเข้าใจว่าผลการเรียนสำคัญน้อยกว่าพัฒนาการ ครูแสดงให้เห็นว่าการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้นั้นเป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อตัวนักเรียนเอง ซึ่งเกรดจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ เป็นข้อมูลที่ใช้ชี้วัดความก้าวหน้า สิ่งสำคัญกว่าคือโอกาสในการเรียนรู้เนื้อหาจนเข้าใจและทำผลการเรียนให้ดีขึ้น

5. นักเรียนไว้ใจและรู้สึกปลอดภัยกับครูของพวกเขา แจ็กเกอลีน เซลเลอร์ (Jacqueline Zeller) กล่าวว่า ปัจจัยเชิงสังคมและความรู้สึกในโรงเรียน อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูส่งผลโดยตรงต่อระดับผลการเรียน นักเรียนควรรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในโรงเรียนและต่อหน้าครู ครูต้องไม่ใช่ผู้สร้างความกังวลใจแต่ต้องอยู่ในฐานะผู้สนับสนุน ปกป้อง ดูแลเขาเมื่อทำผิดพลาด ตามหลัก Growth Mindset ความผิดพลาดคือโอกาสแห่งการเรียนรู้ หากนักเรียนทำผิดพลาด ครูจะต้องรับรู้และจัดการอย่างเป็นมืออาชีพร่วมกับนักเรียนเป็นรายบุคคล ไม่หยุดสนับสนุน มอบความเมตตาให้นักเรียน แทนที่จะเก็บมาเป็นความไม่พอใจส่วนตัว

            ครูที่ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน หลังการทบทวนและพบจุดที่ต้องการพัฒนา หรือเหตุการณ์ที่ต้องการปรับชุดความคิดแล้ว ครูสามารถใช้หลัก SMART มาตั้งเป้าหมายการพัฒนาตนเองในด้านการสอนและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ซึ่งจะเป็นการวางแผนพัฒนา Growth Mindset ของตัวครูเองอีกด้วย ซึ่งมีตัวอย่างการทำหลักการ SMART ไปใช้ดังนี้

Specific (เจาะจง) การเขียนเป้าหมายเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนให้ชัดเจน เจาะจง เช่น จะจำชื่อและความชื่นชอบของนักเรียนทุกคนในห้องให้ได้ เป็นต้น

Measurable – (วัดผลได้) เขียนวิธีการประเมินเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เช่น เขียนชื่อและความชอบมาท่องจำและเรียกชื่อทบทวนจริงให้ถูกต้องและบ่อยที่สุด

Actionable – (ปฏิบัติได้) เขียนขั้นตอนการปฏิบัติให้ชัดเจน เช่น จะเริ่มขานชื่อนักเรียนและความชื่นชอบเพื่อนำไปท่องจำทบทวนและลองเรียกด้วยชื่อ บอกความชอบให้บ่อยเท่าที่เป็นไปได้

Realistic – (เป็นไปได้) เขียนระบุทรัพยากรที่ต้องใช้และแรงสนับสนุนที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมาย เช่น ทำทุกสัปดาห์ จดข้อมูลใส่กระดาษหรือสมุด เป็นต้น

Timely(มีกรอบเวลา) การระบุเวลาในการปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

จะจำชื่อและความชื่นชอบของนักเรียนทุกคนในห้องให้ได้ โดยเมื่อเปิดเทอมฉันจะขานชื่อและสอบถามความชอบใส่สมุดและนำมาท่องจำทุกสัปดาห์ และจะพยายามเรียกชื่อนักเรียนและความชอบให้ถูกต้องบ่อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้จนกว่าจะหมดเทอม

            ฮันเตอร์ เกห์ลแบช (Hunter Gehlbach) และทีมวิจัยพบว่า การที่ครูและนักเรียนมีความคิด ความสนใจคล้ายกันจะส่งผลเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ได้ และการที่ได้มีการจัดกิจกรรมทำความรู้จักกันในช่วงต้นเทอม กำหนด กฎเกณฑ์ในชั้นเรียน ก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนได้เช่นกัน ทั้งนี้การสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนก็ไม่ควรจบลงแค่วันแรก ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นกิจกรรม กลยุทธ์ให้ครูได้นำไปปรับใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับนักเรียน โดยประกอบด้วย 9 รูปแบบ ดังนี้

  1. หาสิ่งที่เหมือนกัน ช่วงต้นปีการศึกษาหรือต้นภาคการศึกษาควรหาเวลาค้นหาสิ่งที่ชอบ สนใจเหมือนกันระหว่างครูกับนักเรียน เช่น ภาพยนตร์ กีฬา ดนตรี ฯลฯ และครูอาจใช้เป็นหัวข้อในการพูดคุยเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนต่อไปได้
  2. เพื่อนร่วมโต๊ะอาหารกลางวัน หาโอกาสไปนั่งรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักเรียน และใช้เวลานี้พูดคุยเรื่องทั่วไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก
  3. สนทนา 2 นาที ก่อนเริ่มเรียน หรือหลังช่วงต้นปีการศึกษาหรือต้นภาคการศึกษา ครูสามารถตั้งเป้าหมายในการเข้าไปพูดคุยกับนักเรียน เช่น เมื่อจบการเรียนในแต่ละวัน โดยเฉพาะกับนักเรียนที่กำลังมีปัญหา ในเรื่องทั่ว ๆ ไป ซึ่งการทำแบบนี้อาจจะได้ข้อมูลที่มีคุณค่าเกี่ยวกับชีวิตนักเรียนและนำมาคิดวิธีดูแลนักเรียนคนนั้นต่อไปได้
  4. ตอบตกลงเท่านั้น เป็นวิธีการตั้งเป้าหมายตนเองว่าจะตอบ “ตกลง” ต่อคำร้องขอของนักเรียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นการให้สิทธิ์ตัดสินใจ และกระตุ้น สร้างแรงจูงใจแก่นักเรียนได้
  5. ทักทายที่หน้าประตู ก่อนเข้าห้องเรียน เมื่อมีโอกาสก็ควรทักทายนักเรียนด้วยถ้อยคำและรอยยิ้มอย่างเป็นมิตร ซึ่งการทำเช่นนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้เช่นกัน
  6. กิจกรรมทำความรู้จัก ช่วงต้นปีการศึกษาหรือต้นภาคการศึกษา การจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกัน จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันได้ นอกจากนี้ครูก็อาจลงไปร่วมกิจกรรมนี้ได้เช่นกัน
  7. สัญญาณมือและรหัสลับ ช่วงต้นปีการศึกษาหรือต้นภาคการศึกษา การหากิจกรรมสร้างรหัสลับ สัญญาณมือ แทนการออกคำสั่งบางอย่างเช่น เตรียมพร้อม นั่งที่ เงียบเสียง ก็จะเป็นการช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกได้ รวมถึงเป็นการช่วยลดการตะโกนสั่งการได้อีกด้วย
  8. กฎที่เท่าเทียม เป็นการง่ายที่จะสร้างกฎของชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนทำตาม แต่โดยมากครูมักมีอำนาจ สิทธิ์ขาดเหนือกว่าเสมอ หากต้องการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกขึ้นครูก็ควรที่จะปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเท่าเทียม และยินดีหากมีนักเรียนท้วงติงเมื่อทำผิดกฎนั้น
  9. พูดคุยเรื่องสัพเพเหระ หาโอกาสคุยเรื่องทั่วไป นอกเหนือจากการเรียน กับนักเรียนแต่ละคน การทำเช่นนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณครูใส่ใจตัวเขา รับรู้ถึงชีวิตนอกห้องเรียนของเขา

เราเติบโตด้วยการอุ้มชูผู้อื่น Robert Ingersoll

References:

  • Annie Brock and Heather Hundley. (2565). คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset [The Growth Mindset Coach] (ฐานันดร วงศ์กิตติธร, แปล). กรุงเทพฯ: Bookscape. (ต้นฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. 2559).
  • Liew, J., Chen, Q., & Hughes, J. N. (2010). Child effortful control, teacher–student relationships, and achievement in academically at-risk children: Additive and interactive effects. Early Childhood Research Quarterly25(1), 51-64.
  • Hughes, J. N., Cavell, T. A., & Willson, V. (2001). Further support for the developmental significance of the quality of the teacher–student relationship. Journal of school psychology39(4), 289-301.