การประเมินการเรียนรู้ (Learning Assessment)

feather-calendarPosted on 8 ธันวาคม 2023 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

เรียบเรียงโดย
น.ส.จันทิมา ปัทมธรรมกุล
นักวิจัย สถาบันการเรียนรู้

การวัดและการประเมินผลเป็นการตรวจสอบคุณภาพของผู้เรียนเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนมีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่

การวัด หรือ Measurement

หมายถึง การวัดคุณลักษณะและความสามารถของบุคคลจากผลการตอบคำถามเพื่อแสดงคุณค่าเชิงปริมาณหรือตัวเลขที่วัดได้

การวัดผลนอกจากการใช้แบบทดสอบแล้วยังรวมถึงการใช้เครื่องมืออื่น เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพด้วย เช่น การสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ การตรวจผลงานต่างๆ ที่กำหนดให้ผู้เรียนทำ

การประเมินผล

ในภาษาอังกฤษใช้คำสองคำคือ Evaluation และ Assessment ทั้งสองคำนี้หมายถึงการนำข้อมูลหรือคะแนนที่ได้จากการวัดมาใช้

ถ้าเป็น Evaluation จะเป็นการนำมาใช้เพื่อตัดสินการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ผ่าน/ไม่ผ่าน หรือว่าผู้เรียนได้รับเกรดใด

ในขณะที่ Assessment จะเป็นการนำคะแนนหรือข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน

โดยสรุปแล้ว วัตถุประสงค์ของ Evaluation คือ การตัดสินคุณภาพ ส่วน Assessment คือ การเพิ่มคุณภาพ
ซึ่งผลการประเมินจะมีความถูกต้องเที่ยงตรงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับผลจากการวัดผล 

การประเมินผลสามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1) การแบ่งตามช่วงเวลา และ
2) การแบ่งตามการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์หรือที่เรียกว่า การประเมินการเรียนรู้ (Learning Assessment) 

การประเมินผลที่แบ่งตามช่วงเวลาสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ Diagnostic Assessment, Formative Assessment และ Summative Assessment 

Diagnostic Assessment หรือ การประเมินเพื่อวินิจฉัย คือ การประเมินที่ใช้ในการวินิจฉัยจุดแข็ง จุดอ่อน ความรู้ และทักษะของผู้เรียนเพื่อประเมินความพร้อมของผู้เรียนก่อนการเรียนการสอน 

Formative Assessment หรือการประเมินความก้าวหน้า คือ การประเมินผลขณะที่รายวิชาหรือหลักสูตรนั้นยังคงมีการดำเนินหรือยังไม่สิ้นสุด เป็นการประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน เพื่อชี้จุดดี จุดด้อยของผู้เรียนด้วยการให้ Feedback หรือข้อมูลป้อนกลับ และการนำข้อมูลมาพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน 

Summative Assessment หรือการประเมินเพื่อตัดสินผล คือการประเมินเมื่อรายวิชาหรือหลักสูตรสิ้นสุดลง เพื่อจัดลำดับ เลื่อนชั้นเรียน และเป็นข้อมูลเพื่อใช้พัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนในครั้งต่อไป 

การแบ่งตามการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์หรือที่เรียกว่า การประเมินการเรียนรู้ (Learning Assessment) สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. Assessment of Learning (AoL)
2. Assessment for learning (AfL) และ
3. Assessment as learning (AaL) 

Assessment of Learning หรือ การประเมินผลการเรียนรู้ เป็นการประเมินเพื่อ จัดลำดับ เลื่อนชั้นเรียน สรุปผลการเรียน แล้วระบุออกมาเป็นอักษรหรือสัญลักษณ์ ที่บอกระดับของผลการเรียนรู้นั้น ๆ อาทิ เกรด A, B+, B หรือ เกรด 4, 3.5 เป็นต้น 

Assessment for Learning หรือ การประเมินเพื่อการเรียนรู้ เป็นการวินิจฉัย ติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ผู้สอนให้ Feedback ด้านจุดดีและสิ่งที่เพิ่มเติมได้ให้แก่ผู้เรียน 

Assessment as Learning หรือ การประเมินที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เป็นการประเมินที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิด Metacognition หรือให้ผู้เรียนมีความตระหนักและพัฒนาตนเอง เช่น ผู้สอนบอกจุดดี จุดด้อย วิธีการปรับปรุงตนเอง รวมทั้งคอยสอดแทรกเรื่องของการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้เรียนสามารถจัดการตนเองให้ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 

เมื่อผู้สอนทราบผลการประเมินที่สามารถระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้เรียนได้แล้วนั้น ผู้สอนควรให้ Feedback เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนาตนเอง ซึ่งการให้ Feedback เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ 

Feedback หรือข้อมูลป้อนกลับ

เป็นการให้ข้อมูลในลักษณะข้อความ เสียง รูปภาพหรือสัญลักษณ์แก่ผู้เรียน
โดยผู้เรียนจะรู้ผลการทดสอบว่าถูกต้องหรือไม่ หรือตนเองมีจุดเด่น-จุดด้อย อย่างไร เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองในอนาคต 

หากผู้สอนให้ Feedback ที่ดี จะสามารถบอกสิ่งที่ควรปรับปรุง ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่น ความพยายามที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย ช่วยให้มีแนวทางในการต่อยอดหรือพัฒนาชิ้นงานให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง 

การให้ Feedback สามารถแบ่ง ได้ 4 ประเภท ได้แก่
1. การให้ Feedback เกี่ยวกับผลงาน เป็นการประเมินที่ชิ้นงาน
2. การให้ Feedback เกี่ยวกับกระบวนการ เป็นการประเมินจากกระบวนการที่ใช้ในการปฏิบัติงาน การแก้ไขข้อบกพร่องของกระบวนการ
3. การให้ Feedback เกี่ยวกับการกำกับตนเอง เป็นการประเมินที่สะท้อนถึงการรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง เช่น ผู้สอนให้ข้อมูลป้อนกลับว่าผู้เรียนส่งงานไม่ตรงเวลา, ผู้เรียนทบทวนบทเรียนและจัดการตนเองในการเรียนหรือไม่
4. การให้ Feedback เกี่ยวกับการประเมินตนเอง เป็นการประเมินผลงานของตนเองและเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมิน 

8 คำแนะนำสำหรับการให้ Feedback มีดังต่อไปนี้ 

1. แจ้งเงื่อนไขหรือสร้างข้อตกลงร่วมกันในการให้ Feedback ในชั้นเรียน เช่น วัตถุประสงค์ของการให้ Feedback การกำหนดเวลาในการได้รับ Feedback วิธีการที่ผู้เรียนจะได้รับ Feedback และประโยชน์ของการได้รับ Feedback 

2. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สอนและผู้เรียน เพื่อสร้างบรรยากาศในการให้ Feedback ที่ดี ทำให้เกิดการยอมรับและเรียนรู้จากการรับ Feedback 

3. ให้ Feedback ทันทีและสม่ำเสมอ กับผู้เรียนทุกคน เพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องได้ทันท่วงทีและเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง 

4. ให้ Feedback ที่มีคุณภาพ โดยมีคำอธิบายรายละเอียดประกอบการให้คะแนน เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าต้องปรับปรุงแก้ไขในส่วนใด ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของการประเมิน 

5. ให้ Feedback ที่ไม่ซ้ำซ้อน เช่น การให้แบบฝึกหัดหนึ่งครั้ง ผู้เรียนอาจผิดพลาดในประเด็นเดียวกันหลายครั้ง ผู้สอนควรพิจารณาประเด็นดังกล่าวและให้ Feedback แบบรวบยอดเพียงครั้งเดียว ไม่ย้ำประเด็นเดิม 

6. ให้ Feedback ที่เข้าใจได้ง่าย เน้น Feedback เพื่อให้เกิดการพัฒนา ไม่วิพากษ์หรือเน้นจุดอ่อนมากจนเกินไป 

7. ผู้สอนควรให้ Feedback โดยตรงกับผู้เรียน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน 

8. ผู้สอนควรให้ Positive Feedback เสมอ เช่น สร้างแรงจูงใจหรือการเสริมแรงบวก โดยชมเชยหรือให้รางวัล เพื่อสร้างกำลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก่ผู้เรียน 

นอกจากคำแนะนำสำหรับการให้ Feedback แล้ว Nancy Frey and Douglas Fisher ได้นำเสนอกระบวนการให้ข้อมูลป้อนกลับในการประเมินระหว่างเรียนที่มีประสิทธิภาพ โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ 

ขั้นที่ 1 Feed up คือการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการเรียน โดยแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ และการประเมินที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในการเรียนรู้และการประเมิน 

ขั้นที่ 2 Checking for understanding คือการตรวจสอบความเข้าใจเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยการพูด การตอบคำถาม การนำเสนอ การเขียน ตลอดการจัดการเรียนการสอน 

ขั้นที่ 3 Feedback คือ การให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับความสำเร็จและสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขแก่ผู้เรียน 

ขั้นที่ 4 Feed forward คือ การให้คำแนะนำ ชี้แนะแนวทางบนพื้นฐานของข้อมูลจริง เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการเรียนรู้ที่สูงขึ้น