เรียบเรียงโดย นายไพฑูรย์ อนันต์ทเขต นักพัฒนาการศึกษา สถาบันการเรียนรู้
หลักและกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน
ปีเตอร์ เอลเลอร์ตัน (Peter Ellerton) อาจารย์สอนวิชา Critical Thinking มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ได้เสนอแนวทางการสอนพื้นฐานที่จำเป็นต้องคำนึงถึง 4 ข้อหลัก คือ
- หลักในการหาข้อพิสูจน์ (The Nature of Science) เพื่อประเมินว่าข้อมูลที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันมีคุณภาพหรือไม่ สองสิ่งที่จะช่วยสกรีนได้คือ การหาข้อพิสูจน์ด้วยการทดลอง และสถิติ หรือมีแนวทาง วิธีการในการค้นคว้าข้อมูล ความจริงเพิ่มเติม
- หลักการใช้ตรรกะเหตุผล (Logic) เป็นหลักการคิด เพื่อให้ได้มาซึ่งเหตุผลที่เป็นความจริง น่าเชื่อถือ สมเหตุสมผล
- หลักของการโต้แย้ง (Argumentation) บริบทที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้มนุษย์สามารถ วิเคราะห์ หาข้อมูล และสังเคราะห์เป็นข้อสรุปได้ มักอยู่ในรูปของการโต้แย้ง ถกเถียงกัน ซึ่งผู้เรียนต้องรู้หลักการโต้แย้งที่ดีและจำเป็นต้องค้นหาความจริง หลักฐาน ค้นคว้าข้อมูลมาสนับสนุนความเห็น จุดยืนของตนเอง อย่างเป็นเหตุเป็นผล น่าเชื่อถือ
- หลักจิตวิทยา (Psychology) บางครั้งการใช้ข้อมูลอาจมาจากความสนใจเฉพาะตัว ความเชื่อส่วนบุคคล ค่านิยม อคติบางอย่าง โดยไม่ได้ฉุกคิด ผู้สอนจะต้องคำนึงและให้คำแนะนำในส่วนนี้ด้วย
ตัวอย่างแนวทางและกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นทักษะการคิดวิพากษ์
โดยในบทความนี้จะรวบรวมไว้ 5 กิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรมอภิปราย (Debates)
การจัดเวทีอภิปรายในชั้นเรียนเป็นอีกวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ได้ เพราะการเรียนรู้ในรูปแบบนี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูล และนำมาสนับสนุนในจุดยืนของฝั่งตนเอง หรือของกลุ่ม และมีการถกเถียงเพื่อให้เห็นมุมมองของฝ่ายที่แตกต่างกันได้
2. กิจกรรมเรียนรู้จากปัญหา (Problem-Based Learning : PBL)
การเรียนรู้ในรูปแบบนี้จะมีการกำหนดประเด็นปัญหาในโลกความจริง และมอบหมายให้กลุ่มผู้เรียนไปค้นคว้าข้อมูล และสรุปเป็นวิธีแก้ พร้อมกลับมานำเสนอวิธีนั้น
3.การตั้งคำถามปลายเปิด (Questioning)
ผู้สอนสามารถใช้คำถามปลายเปิด การใช้คำถาม 5W1H ในการตั้งคำถาม แทนการถามว่าถูกหรือผิด เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการค้นคว้าความรู้ ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาทบทวน วิเคราะห์ อธิบายให้เหตุผลในการตอบคำถามของตนเอง เช่น สภาวะโลกร้อนเกิดจากอะไรบ้าง ส่งผลกับมนุษย์และสัตว์โลกอย่างไร หรือควรแก้ปัญหานี้อย่างไร เป็นต้น
4.การทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping)
การทำแผนที่ความคิดช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าข้อมูล ในประเด็นที่กำหนด และจัดระเบียบวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนได้ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วนในแต่ละประเด็นซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิดเชิงวิพากษ์
5.กิจกรรมเรียนรู้จากกรณีศึกษา (Case study)
กรณีศึกษาเป็นเทคนิคการสอนที่มีการกำหนดประเด็นคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์สมมติหรือเหตุการณ์ที่มีเค้าโครงจากเรื่องจริง โดยมีคำตอบได้หลากหลาย ไม่ได้มีการจำกัดคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว ซึ่งการเรียนรูปแบบที่กระตุ้นให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ และการอภิปรายสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงความรู้หรือทักษะที่ได้เรียนรู้เข้ากับเหตุการณ์นั้น
อ้างอิง
- Shabbir, R. 10 Innovative Strategies for Promoting Critical Thinking in the Classroom. Retrieved 18 April 2024, https://educationise.com/post/10-innovative-strategies-for-promoting-critical-thinking-in-the-classroom/
- บุญชนก ธรรมวงศา. (30 พฤศจิกายน 2561). CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น. สืบค้น 18 เมษายน 2567. จาก https://thepotential.org/knowledge/how-to-critical-thinking/