Problem Based Learning : PBL (การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน)

feather-calendarPosted on 11 กุมภาพันธ์ 2025 document PedagogyLearning Theoryคลังความรู้
แชร์

บทความโดย นายไพฑูรย์ อนันต์ทเขต นักพัฒนาการศึกษา สถาบันการเรียนรู้

รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1960 ใน McMaster University ประเทศแคนาดา นื่องจากการสอนผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบเดิม เช่น การบรรยาย ถือว่าไม่เพียงพอกับการเตรียมนักศึกษาแพทย์ให้พร้อมกับการฝึกปฏิบัติทางคลินิกในการทำงานจริง จึงได้ปรับเปลี่ยนพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ให้นักศึกษาได้เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและเรียนรู้ด้วยตนเอง

    Howard Barrows ได้ใช้คำว่า Problem-Based Learning (PBL) มาเรียกการเรียนรู้รูปแบบดังกล่าวในปี 1974

       ในกระบวนการทำงานของผู้เรียนตามหลัก Problem Based Learning นั้นมีการออกแบบไว้หลากหลายรูปแบบโดยขึ้นอยู่กับบริบทของวิชา เนื้อหา อาจารย์ผู้สอน และข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งนี้ กระบวนการทำงานของผู้เรียนสามารถแบ่งเป็นช่วงสำคัญได้ 5 ช่วง ดังต่อไปนี้

Phase 1 : Clearly Define the Problem ระบุปัญหาที่ตนเองหรือกลุ่มสนใจร่วมกันอย่างแท้จริง

  • Identify the Problem ให้ผู้เรียนค้นหาปัญหาที่สนใจและต้องเป็นปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อภิปรายหรือถกประเด็นปัญหาในเชิงลึกถึงความสำคัญของปัญหานั้นผ่านการตั้งคำถามว่า ทำไม (Why) อย่างไร (How) และเมื่อไหร่ (When)
  • Explore pre-existing knowledge ระบุสิ่งที่ผู้เรียนรู้แล้ว และเตรียมตัวหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนพร้อมสำหรับการเรียนรู้ต่อไป
  • Identify Required Knowledge ระบุสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้และสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องรู้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะถูกนำไปค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบประเด็นปัญหา

Phase 2 : Develop a plan ผู้เรียนพัฒนาแผนการทำงานของตนเองเพื่อค้นหาคำตอบ หาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียนก็ได้เช่นกัน โดยแบ่งเป็นขั้นตอนย่อย 2 ขั้นตอน ดังนี้

  • Content Exploration วางแผนค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น ค้นคว้าข้อมูลใน Website หนังสือ หรือสื่อต่าง ๆ เช่น VDO, Image, Podcast และฟังบรรยายจากวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญ
  • Critical Analysis วางแผนที่จะทบทวน วิเคราะห์ และประเมินความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือของข้อมูล รวมถึงแหล่งที่มา

Phase 3: Implement the plan ลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่ได้วางไว้ ทั้งการค้นคว้าข้อมูล ทำการทดลอง หรือสร้างผลิตภัณฑ์

ในขั้นตอนนี้ผู้สอนควรมีการกระตุ้น ให้ข้อเสนอแนะ หรือจัดกระบวนการให้นักเรียนพูดคุย ระดมสมอง ซักถาม หรือมีการอภิปรายผล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุป วิธีการแก้ไขปัญหา คำตอบของประเด็นปัญหา หรือตั้งคำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจทำซ้ำหรือสร้างประเด็นปัญหา และแนวทางค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมต่อไป

Phase 4: Evaluate the output & Reflection หลังจากสิ้นสุดการค้นคว้าหรือหาคำตอบของประเด็นปัญหา เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดของกระบวนการเรียนรู้ ควรมีการให้ผู้เรียนประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประเด็นปัญหานี้มีอะไรบ้างและยังต้องค้นคว้าต่อยอดความรู้อะไรเพิ่มเติม

Phase 5: Share & Present เป็นขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถ่ายทอดวิธีการแก้ไข ผ่านการนำเสนอ งานเขียน VDO หรือวิธีการอื่น ๆ และยังเป็นโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนได้ชื่นชม ให้รางวัลแก่ “ความพยายาม” ของผู้เรียน

       บทบาทหน้าที่ของอาจารย์ในการสอนตามหลักการ Problem-Based Learning (PBL) นั้นจะมีการปรับเปลี่ยนจากผู้บรรยาย ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่บทบาทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

Facilitator อาจารย์ควรจัดกระบวนการและกระตุ้นให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง โดยไม่ต้องให้คำตอบหรือถ่ายทอดองค์ความรู้แก่พวกเขาโดยตรง เช่น ชวนให้นักเรียนถามคำถามหรือพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหา หลักความคิดเบื้องต้น กระตุ้นให้ผู้เรียนระบุสิ่งที่ต้องรู้ แนะนำแหล่งค้นหาข้อมูล ระดมความคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ และจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้สะท้อนคิด

Resource Provider อาจารย์ควรสนับสนุนให้ผู้เรียนค้นหาข้อมูลในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่ก็สามารถแนะนำแหล่งหาข้อมูล หรือใช้ข้อมูลที่เตรียมเอาไว้ได้ โดยขึ้นอยู่กับบริบทของผู้เรียน เนื้อหา และธรรมชาติของรายวิชา

Coach อาจารย์มีบทบาทในการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้น และสนับสนุนผู้เรียนให้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องผ่านการตั้งคำถาม

Observer อาจารย์ควรหมั่นเฝ้าสังเกตเพื่อประเมินความก้าวหน้าและความเข้าใจของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพื่อช่วยให้พวกเขาปรับปรุงผลงานของพวกเขา

  1. High Engagement ด้วยการใช้ปัญหาที่มาจากโลกความเป็นจริง พร้อมทั้งเลือกประเด็นปัญหาในการเรียนรู้ที่มาจากผู้เรียน หรือให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดปัญหาด้วยตนเองจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ เห็นคุณค่าและดึงดูดให้ผู้เรียนอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ได้มากขึ้น หรือเรียกว่าเป็นหนึ่งในการเรียนรู้แบบ “Active Learning” นั่นเอง
  2. Self-Directed Learning กระบวนการเรียนรู้นี้จะส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถกำหนดเป้าหมาย วางแผน และดำเนินการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านการกำหนดประเด็นปัญหา การวิเคราะห์ปัญหา การสืบค้น และหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
  3. Learning Ownership ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง เกิดความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง หากได้มีการฝึกฝนตามกระบวนการนี้ซ้ำ หรือบ่อยครั้ง จะสามารถต่อยอดไปสู่ Lifelong Learning Skills ได้
  4. Problem-Solving Skills การนำประเด็นปัญหาจากโลกความจริง (Real-world Problems) มาใช้จะเป็นการฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหา เนื่องจากผู้เรียนจะต้องระบุปัญหา สืบค้นที่มา ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหา รวมถึงการระดมสมองถึงวิธีการแก้ไขปัญหา และได้ลงมือค้นคว้าวิจัย หรือสร้างชิ้นงานทดสอบอีกด้วย
  5. Critical Thinking and Analytical Skills การนำประเด็นปัญหาที่ซับซ้อนมาใช้ในการเรียนรู้จะให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะสาเหตุของปัญหาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และยังช่วยฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์สำหรับการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเองหรือของกลุ่ม นอกจากนี้สำหรับประเด็นปัญหาบางอย่างอาจต่อยอดไปสู่การคิดเชิงสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรม Creativity and Innovation) และทักษะการค้นคว้าวิจัยอีกด้วย (Research Skills)
  6. Time Management ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ยาวนานนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของและรับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง จะเป็นการฝึกฝนทักษะการจัดการที่จะต้องวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
  7. Reflection and Self-Assessment ในแต่ละช่วงของการเรียนรู้ อาจารย์ผู้สอนจะต้องมีการประเมิน ติดตาม ให้คำแนะนำด้วยแนวทาง Coaching ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนได้ฝึกสะท้อนถึงกระบวนการเรียนรู้ และการประเมินตนเอง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุงของตนเอง
  8. Collaboration and Teamwork สำหรับการเรียนรู้ที่มีการทำงานเป็นกลุ่มจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการสื่อสาร การเจรจา และความร่วมมือ
  1. Lack of familiarity กระบวนการเรียนรู้นี้ ผู้สอนจะต้องปรับบทบาทเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง จึงอาจจะเกิดความยุ่งยาก และไม่คุ้นชิน
  2. High resource demand อาจจะต้องใช้ทรัพยากรบุคคลเข้ามาช่วยในกระบวนการเรียนรู้ เพราะกระบวนการจำเป็นต้องมีการให้คำแนะนำ การประเมิน รวมถึงการเตรียมให้ผู้เรียนส่วนใหญ่เข้าถึงช่องทางการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ห้องสมุดในการค้นคว้าข้อมูล รวมถึงห้องปฏิบัติการสำหรับผู้เรียนที่มีการทำผลิตภัณฑ์แก้ไขปัญหาอีกด้วย
  3. Information overload ด้วยข้อมูลที่มากเกินไปอาจจะส่งผลให้ผู้เรียนขาดความมั่นใจในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนจำเป็นต้องคอยดูแล ประเมิน ให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ
  4. Time consuming ประสิทธิผลของกระบวนการเรียนรู้นี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานและมีการทำซ้ำบ่อย ๆ ซึ่งต้องมีการออกแบบร่วมกันทั้งหลักสูตร
  • Instructional Design Australia. Applying problem-based learning (PBL). Retrieved from https://instructionaldesign.com.au/pbl/
  • Physiopedia. Problem-based learning. Retrieved from https://www.physio-pedia.com/Problem_Based_Learning
  • Leming, M. What is problem-based learning? The Hun School of Princeton. Retrieved from https://www.hunschool.org/resources/problem-based-learning
  • Spencer, J. (2017). What is problem-based learning? How to use it in your classroom. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=RGoJIQYGpYk
  • Walsh, A. (2005). The tutor in problem-based learning: A novice’s guide. Hamilton, Ontario: McMaster University Press.
  • Nundy, S., Kakar, A., & Bhutta, Z. A. (2022). The why and how of problem-based learning? In S. Nundy, A. Kakar, & Z. A. Bhutta (Eds.), How to practice academic medicine and publish from developing countries? A practical guide (pp. 415–421). Springer. https://doi.org/10.1007/978-981-16-5248-6_43
  • Alrahlah, A. (2016). How effective is problem-based learning (PBL) in dental education? A critical review. The Saudi Dental Journal, 28(4), 155–161. https://doi.org/10.1016/j.sdentj.2016.08.003
  • Gonzalez, L. (2019). The problem-based learning model.
  • Barell, J. (2010). Problem-based learning: An inquiry approach. Corwin Press.
  • Duch, B. J., Groh, S. E., & Allen, D. E. (Eds.). (2001). The power of problem-based learning. Stylus Publishing.
  • Savin-Baden, M. (2000). Facilitating problem-based learning. Open University Press.