ถอดองค์ความรู้จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนแนวคิดพิชิต PSF
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 9.00-12.00 น.
เรียบเรียงโดย นายไพฑูรย์ อนันต์ทเขต นักพัฒนาการศึกษาและนายคชานนท์ นิรันดร์พงศ์ นักวิจัย
“การเขียนยื่นขอรับรอง PSF จะต้องสะท้อนว่าผู้เรียนจะได้รับการพัฒนา Competence ใดจากการเรียนรู้นั้น ทำให้ผู้ยื่นขอรับรองสะท้อนคิดไปยังวิธีการจัดการเรียนรู้และการประเมินผู้เรียน การใช้กรอบ PSF ก็จะเป็นการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้รวมถึงหลักสูตรที่ดีให้ผู้เรียนต่อไป” – รศ. ดร.สุรวุฒิ ช่วงโชติ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์, SFHEA
“PSF ทำให้มีโอกาสได้สะท้อนตนเองและท้ายที่สุดเราจะพัฒนาการสอนของเราเพื่อนักศึกษา” – รศ. ดร.ปริญญา เสงี่ยมสุนทร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์, SFHEA
“PSF มีไว้เพื่อไม่ให้เรา (อาจารย์) ตกหลุมพรางที่ชื่อว่า “มันดีอยู่แล้ว” … เราสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ เรายังพัฒนาต่อไปได้ เราเก่งขึ้นได้” – ผศ. ดร.พิเชษฐ์ พินิจ หัวหน้าสาขาวิชาครุศาสตร์เครื่องกล, SFHEA
การเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอการรับรอง UK PSF
1. ทำความเข้าใจเกณฑ์
อาจารย์อาจพูดคุยหารือกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการยื่นขอรับการรับรอง หรือได้รับการรับรองแล้ว อาจารย์พี่เลี้ยง หรือ อาจารย์ที่เคยเข้าอบรมเกี่ยวกับ UK PSF ว่า ระดับที่ต้องการยื่นขอ เช่น Fellow หรือ Senior Fellow มีรายละเอียดของเกณฑ์อย่างไรบ้าง หรือหากอาจารย์ต้องการตรวจสอบว่าสมรรถนะของตนมีความพร้อมสำหรับ UK PSF ระดับใด อาจารย์สามารถเข้าทำแบบประเมินได้ที่ https://bit.ly/fellowship-decision-tool
หากอาจารย์สนใจยื่นขอรับรองกับกรอบรับรองสมรรถนะอื่น ๆ เช่น Thailand PSF หรือ KMUTT PSF ก็จะต้องมีการทำความเข้าใจเกณฑ์ของกรอบนั้น ๆ ก่อน เพราะแม้ว่าแต่ละกรอบจะมีความคล้ายกัน แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามความต้องการและการตีความที่แตกต่างกัน
Thailand PSF https://bit.ly/thailand-psf
KMUTT PSF https://www.c4ed.kmutt.ac.th/kmutt-psf
2. เตรียมภารกิจให้พร้อมเขียน
ในการเขียนขอรับรองสมรรถนะของ UK PSF จะมีการเขียนสะท้อนการทำงาน ตัวอย่างเช่น ระดับ Fellow จะเน้นที่การเขียนสะท้อนการทำงานของตนเองอย่างเดียว ในขณะที่ระดับ Senior Fellow นั้นจะต้องเพิ่มเติมส่วนที่เป็น Case Study 2 Case ที่อาจารย์มีบทบาทในการช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของอาจารย์ท่านอื่น เช่นเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการสอน เป็นผู้อบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเป็นส่วนสำคัญของทีมผู้สอนที่ทำให้ผู้ร่วมสอนเกิดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาการสอน
“ระหว่างทำภารกิจหรือเตรียมภารกิจ อาจารย์อาจจะทยอยเขียนสิ่งที่ทำและแนวคิดของสิ่งเหล่านั้นเก็บไว้ก่อน เพื่อภายหลังจะสามารถนำมารวมเป็นเรื่องเดียวกันได้การทยอยเขียนนี้จะช่วยลดภาระทางความคิดของอาจารย์ในการย้อนคิดทบทวนสิ่งที่ได้คิดและได้ทำไปแล้ว และนั่นส่งผลให้อาจารย์สามารถจดจ่ออยู่กับความร้อยเรียงเชื่อมโยงของเนื้อความได้ดี”
3. เขียนสะท้อนคิด
การเขียนสะท้อนคิดนั้นไม่ใช่การเขียนเล่าถึงสิ่งที่ทำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอธิบายด้วยว่าทำไมถึงทำแบบนั้น หลักการและแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการทำนั้น ๆ คืออะไร สิ่งที่เราทำและแนวคิดของมันยึดโยงกับหลักการทางการศึกษาต่าง ๆ อย่างไรบ้าง และสิ่งที่เราทำนั้นมีผลป้อนกลับจากผู้เรียนหรืออาจารย์ท่านอื่นอย่างไรบ้าง โดยที่การเขียนทั้งหมดนี้ต้องร้อยเรียงเชื่อมโยงเป็นองค์เดียวกัน
อาจารย์สามารถประยุกต์ใช้ Gibbs’ Reflective Cycle หรือ DIEP Reflective Model เป็นกรอบแนวคิดในการเขียนสะท้อนคิดได้
“การเขียนขอ UK PSF จะอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจ อาจารย์ควรตั้งต้นจากเรื่องราวที่เป็นจริง”