เรียบเรียงโดย
น.ส. จันทิมา ปัทมธรรมกุล นักวิจัย สถาบันการเรียนรู้
การเขียนเกณฑ์ประเมิน
ในการเขียนเกณฑ์ประเมินให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการวัด ผู้สอนสามารถตรวจสอบได้ตามเช็คลิสดังต่อไปนี้
1. Appropriate – เกณฑ์ประเมินเป็นคุณลักษณะหรือองค์ประกอบที่แสดงถึงการเรียนรู้ นำไปสู่การอธิบายหลักฐานของการเรียนรู้ ไม่ใช่อธิบายลักษณะผลงาน
2. Definable – มีนิยามที่ชัดเจน ทั้งผู้สอนและผู้เรียนเข้าใจความหมายของเกณฑ์ตรงกัน
3. Observable – สามารถสังเกตได้
4. Distinct from one another – แต่ละเกณฑ์แสดงถึงผลการเรียนรู้ในด้านที่แตกต่างกัน
5. Complete – แสดงครบทุกมิติของการบรรลุผลการเรียนรู้ที่กำลังประเมิน
6. Able to support descriptions along a continuum of quality – สามารถอธิบายคุณภาพของระดับความสามารถหรือพฤติกรรมที่จะประเมินได้ต่อเนื่องกัน และต่างกันในแต่ละระดับ
การเขียนคำอธิบายระดับพฤติกรรม
ลักษณะของคำอธิบายระดับพฤติกรรมควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
– Descriptive อธิบายพฤติกรรมที่สังเกตได้จากกระบวนการทำงานหรือผลงาน
– Clear ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจในคำอธิบายได้ตรงกัน
– Cover the whole range of performance อธิบายพฤติกรรมที่เรียงระดับคุณภาพจากสูงสุด-ต่ำสุด หรือ ต่ำสุด-สูงสุด
– Distinguish among levels คำอธิบายแต่ละระดับมีความแตกต่างกัน ไม่ใกล้เคียงหรือทับซ้อน ช่วยให้จำแนกคุณภาพงานหรือพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
– Center the target performance (acceptable, mastery, passing) at the appropriate level คำอธิบายในระดับที่คาดหวัง เช่น ผ่าน, ระดับ 3 จาก 5 สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
– Feature parallel descriptions from level to level – คำอธิบายแต่ละระดับแสดงถึงความแตกต่างขององค์ประกอบหรือตัวชี้วัดเดียวกัน
ผู้สอนสามารถใช้คำที่เจาะจง หรือเป็นคำตรงข้าม เพื่อสื่อความหมายที่ตรงกับสิ่งที่อยากให้มี หรือใส่ “คำเชื่อม” ที่แสดงให้เห็นว่าต่างกัน เช่นคำว่า “แต่ …” จะดีกว่าการอธิบายความแตกต่างจากระดับอื่นโดยเพิ่มเพียงคำว่าไม่/ไม่ใช่
คำถามที่พบได้บ่อยในการเขียนรูบริคมีดังนี้
Q : เริ่มต้นเขียนคำอธิบายอย่างไรดี
A : คำถามเบื้องต้นสำหรับการระบุเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ ลักษณะงานแบบใดที่จะเป็นหลักฐานชี้ว่าผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
Q : สามารถใช้ขั้นการเรียนรู้ใน Bloom’s Taxonomy เป็นระดับเกณฑ์ประเมินของรูบริคได้หรือไม่
A : ได้ หากใช้รูบริคในการประเมินแบบ summative เพื่อการตัดเกรด แต่ควรหาวิธีการระบุคุณภาพของชิ้นงานเพิ่มเติม เช่น เขียนรูบริคแบบ analytic สำหรับประเมินคุณภาพของชิ้นงานหรือสิ่งที่ผู้เรียนสามารถทำได้
ในบางครั้ง อาจใช้ขั้นการเรียนรู้ร่วมกับการอธิบายระดับคุณภาพ เช่น ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่คาดหวังอาจใช้ขั้นของการเรียนรู้เพื่อให้เห็นถึงขั้นตอนของการพัฒนาของผู้เรียน และในขั้นที่สูงกว่าระดับที่คาดหวังจะใช้การอธิบายระดับคุณภาพของชิ้นงานหรือสิ่งที่ผู้เรียนสามารถทำได้แล้ว
Q : การเริ่มเขียนคำอธิบายเราควรเขียนคำอธิบายระดับใดก่อนA : จริงๆแล้วการเขียนคำอธิบายนั้น เราสามารถเริ่มเขียนจากระดับใดก่อนก็ได้ โดยเราสามารถเลือกใช้ 3 วิธีการแนะนำดังต่อไปนี้
แบบที่ 1 Build up คือ เขียนจากระดับต่ำสุดก่อน โดยอธิบายคุณภาพที่เป็นไปตามกรอบแนวคิดน้อยที่สุด หรือไม่เป็นไปตามกรอบแนวคิด และเพิ่มให้มีคุณภาพที่เป็นไปตามตัวบ่งชี้มากขึ้นในระดับคะแนนที่สูงกว่า
แบบที่ 2 Back off คือ เขียนจากระดับสูงสุดก่อน โดยอธิบายคุณภาพที่ครบถ้วนตามกรอบแนวคิด ครบถ้วนทุกตัวบ่งชี้ และลดลงตามระดับจนถึงต่ำสุดที่เป็นไปตามตัวบ่งชี้น้อยที่สุด หรือไม่เป็นไปตามตัวบ่งชี้เลย
แบบที่ 3 Mix คือ เขียนจากระดับกลางที่เป็นระดับผ่านเกณฑ์ แล้วเพิ่มระดับคุณภาพตามคะแนนที่เพิ่มขึ้น และลดระดับคุณภาพตามคะแนนที่ลดลง
Q : หากไม่มีชิ้นงานของผู้เรียนเลย เราจะเริ่มเขียนคำอธิบายระดับพฤติกรรมอย่างไรA : เราอาจใช้วิธีการตั้งคำถามกับตัวเองโดยนึกถึงมุมของผู้เรียนในประเด็นดังต่อไปนี้ เช่น
• ผู้เรียนจะต้องทำอะไรและทำอย่างไรเพื่อให้งานนั้นมีคุณภาพในระดับต่าง ๆ
• ความยากที่ต้องพบเจอในการทำงานนั้นที่อาจส่งผลกับคุณภาพงาน
• คุณภาพงานในแต่ละระดับอาจพบความผิดพลาดใดได้บ้าง
• งานที่มีคุณภาพดีมากอาจมาจากการทำสิ่งเล็กน้อยที่เหนือความคาดหวัง สิ่งที่เหนือความคาดหวังนั้น (โดยที่ยังเกี่ยวข้องกับผลการเรียนรู้) คืออะไร
• ตัวชี้วัดความสำเร็จของงานนั้นมีอะไรบ้าง
Q : เขียนคำอธิบายโดยใช้ % หรือสัดส่วนคะแนนของข้อสอบโดยไล่ระดับจากคะแนนน้อย-มาก ได้หรือไม่
A : ใช้ได้ ในกรณีต่อไปนี้
1. กรณีเป็นการประเมิน concept เดียวกัน โดยที่สัดส่วนคะแนนต่างกันแสดงถึงระดับความชำนาญหรือความคล่องแคล่วที่ต่างกัน
2. กรณีเป็น concept เดียวกัน แต่มีระดับความยากง่าย อาจต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าข้อใดเป็นระดับยากหรือง่าย ใน Rubric ก็จะมีการกำหนดว่าในข้อระดับยาก และระดับง่ายจะต้องได้กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น Level 3 จะต้องผ่านระดับง่ายอย่างน้อย xx% และระดับยากอย่างน้อย yy% Level 4 จะต้องผ่านระดับง่ายอย่างน้อย xx% และระดับยากอย่างน้อย yy%
Q : ในการเขียนรูบริค เราสามารถเริ่มเขียนคำอธิบายแต่ละระดับเลย โดยข้ามขั้นตอนระบุองค์ประกอบหรือเกณฑ์ประเมินได้ไหม
A : ทำได้ในกรณีที่ผลการเรียนรู้มีความเฉพาะเจาะจง มีนิยามและขอบเขตที่ชัดเจน รวมถึงพฤติกรรมที่จะประเมินไม่ได้มีหลายองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา แม้จะเป็นกรณีดังกล่าว การทำขั้นตอนระบุองค์ประกอบหรือเกณฑ์ประเมินก่อนที่จะเขียนคำอธิบายแต่ละระดับจะช่วยให้ผู้ประเมินตรวจทานเป้าหมายที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังประเมินว่าสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ Holistic rubric ที่ไม่ได้เขียนแยกเกณฑ์ประเมินเป็นส่วน ๆ แต่เป็นการเขียนทุกเกณฑ์รวมกันและประเมินในภาพรวม การทำขั้นตอนระบุองค์ประกอบจะช่วยให้แน่ใจว่ารูบริคนั้นประเมินเกณฑ์ที่ชี้วัดถึงผลการเรียนรู้ได้ครบถ้วน
นอกจากนี้การเขียนคำอธิบายพฤติกรรม ยังมีข้อควรระวังที่ต้องคำนึงถึงอีกดังต่อไปนี้
– Realistic expectations คำอธิบายในแต่ละระดับต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เช่น ในระดับต่ำสุดคือนักเรียนไม่สามารถทำได้เลย
– Not evaluative ไม่ใช้คำอธิบายในลักษณะประเมินค่าหรือตัดสินผล เช่น ดีมาก ดี แย่
– Low inference หลีกเลี่ยงคำอธิบายที่สามารถตีความได้หลายอย่าง แต่ก็ต้องไม่ใช่การอธิบายที่เหมือนมีคำตอบเดียว หรือเขียนให้ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่น แต่ควรเปิดช่องว่างให้ผู้ประเมินได้พิจารณาว่าผลงานของนักเรียนจะตรงกับระดับใด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประเมินและยังคงบ่งชี้ถึงคุณภาพของสิ่งที่ประเมิน
– Usefulness คำอธิบายให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ปรับปรุงหรือพัฒนาการสอน และการเรียนรู้ของผู้เรียน