การส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม Social Emotional Learning : SEL ในชั้นเรียนสำคัญไฉน?

feather-calendarPosted on 21 กุมภาพันธ์ 2023 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

บทความโดย น.ส.เมตตา มงคลธีระเดช นักพัฒนาการศึกษา สถาบันการเรียนรู้

ผู้เรียนนั้นล้วนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน ทั้งในเชิงของกระบวนการคิด การได้รับการปลูกฝัง ทัศนคติ ประสบการณ์การเรียนรู้ หรือแม้แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในการสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนนั้น การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ เพื่อให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเสริมสร้างกระบวนการคิดเชิงบวก เพิ่มพูนความสามารถของผู้เรียน รวมไปถึงการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม

Social Emotional Learning หรือ SEL คือ กระบวนการพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคม ในการทำความเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น การรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกและตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยประกอบด้วยทักษะ 5 ประการ ได้แก่

1. Self-Awareness การตระหนักรู้ในตัวเอง

การเข้าใจอารมณ์ เข้าใจความต้องการของตนเอง สามารถประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของตนเองได้ ซึ่งในการตระหนักรู้ขั้นสูง ผู้เรียนจะสามารถเชื่อมโยงระหว่างความคิด ความรู้สึก และการกระทำเข้าด้วยกันได้

2. Self-Management การบริหารจัดการตัวเอง

ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองที่มีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถจัดการความเครียด อารมณ์ของตน และมีความพากเพียร มุ่งมั่น กล้าที่จะลงมือปฏิบัติงานที่ท้าทายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

3. Responsible Decision-Making ความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจ

ความสามารถในการสร้างทางเลือกการแสดงพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย คำนึงถึงความปลอดภัยและบรรทัดฐานทางสังคม

4. Relationship Skills ทักษะด้านความสัมพันธ์

ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์และปฏิบัติตนที่ดีต่อผู้อื่น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการสื่อสาร การเจรจาต่อรอง สร้างความประนีประนอม เพื่อขจัดความขัดแย้ง และสามารถขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นได้

5. Social Awareness การตระหนักรู้ทางสังคม

ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจพฤติกรรมที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล ซึ่งมีผลมาจากสังคม ค่านิยมและวัฒนธรรม

การเสริมสร้างทักษะ SEL ในชั้นเรียน

ผู้สอนสามารถพัฒนาทักษะ SEL ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน อาทิ การทำงานกลุ่ม การอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน การเรียนรู้แบบโครงงาน ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน ผู้เรียนได้ทบทวนตนเอง เข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อน และเกิดการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยผู้สอนใช้กระบวนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้

การสนับสนุนจากสถานศึกษา

สถานศึกษาสามารถสนับสนุนในด้านของการจัดการสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ผู้เรียน มีพื้นที่ความปลอดภัยที่ส่งผลดีต่อการแสดงพฤติกรรม และสุขภาพจิตของผู้เรียน ผู้นำสถานศึกษาส่งเสริมกิจกรรมและนโยบายด้านสภาพแวดล้อม อาทิ การจัดตั้งทีมด้านการจัดการสภาพแวดล้อมในอาคารเรียน การจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์เชิงบวกที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน การให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น ที่ปรึกษา นักจิตวิทยา เป็นต้น

การสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน

กิจกรรมนอกห้องเรียนหรือกิจกรรมชุมชนจะช่วยให้ผู้เรียนได้พูดคุยกับเพื่อนและผู้ใหญ่มากขึ้น ได้รับประสบการณ์และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ นอกเหนือจากการเรียนในสถานศึกษา กิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นการพัฒนาอารมณ์และสังคมจะส่งผลที่ดีต่อผู้เรียนในการเข้าใจตนเอง สนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก ส่งผลถึงการมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี และช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลงได้ นอกจากนี้สถาบันครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ปกครองสามารถปลูกฝังและส่งเสริมทักษะ SEL ได้ตั้งแต่ปฐมวัย

แนวทางการพัฒนาทักษะ SEL ด้วย RULER

RULER คือ แนวทางการพัฒนา Social Emotional Learning : SEL ที่พัฒนาขึ้นโดย Yale Center for Emotional Intelligence เพื่อสนับสนุนในการให้คุณค่าของอารมณ์ สร้างทักษะความฉลาดทางอารมณ์ และสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานศึกษา โดย RULER เป็นตัวย่อของความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 5 ประการ ได้แก่

R : Recognize (การจดจำ) หมายถึง การรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น โดยการสำรวจอารมณ์ในเบื้องต้นว่าวันนี้เรารู้สึกอย่างไร อารมณ์นี้ส่งผลในด้านบวกหรือลบอย่างไร การไม่เพิกเฉยกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะช่วยลดผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายได้

U : Understand (การทำความเข้าใจ) หมายถึง การเข้าใจสาเหตุและผลของอารมณ์ ว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้ เหตุการณ์อะไรในอดีตที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกนี้

L : Label (นิยาม) หมายถึง การระบุอารมณ์ที่เกิดขึ้นให้ตรงกับสิ่งที่เรารู้สึกมากที่สุด ซึ่งยิ่งเราอธิบายถึงความรู้สึกของเราได้ชัดเจนเท่าไร เราก็จะยิ่งจัดการมันได้ดีเท่านั้น

E : Express (การแสดงออก) หมายถึง หากเราเข้าใจอารมณ์ของเราเป็นอย่างดีแล้ว เราจะสามารถปรับอารมณ์ และเลือกแสดงออกในรูปแบบที่เหมาะสมได้

R : Regulate (การจัดการ) หมายถึง การจัดการอารมณ์ให้อยู่ในระดับปกติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ วาดรูป เป็นต้น

แนวทาง RULER จะช่วยให้ผู้คนทุกช่วงวัยสามารถใช้อารมณ์อย่างชาญฉลาด เปิดโอกาสทางความสำเร็จทั้งในบริบทของการศึกษา การทำงานและการใช้ชีวิต โดยทักษะเหล่านี้เป็นทักษะทั้งส่วนบุคคลและสังคม

การพัฒนาทักษะ SEL ด้วยแนวทาง RULER สามารถพัฒนาด้วยเครื่องมือ 4 อย่าง ดังนี้

Charter คือ เครื่องมือเพื่อสร้างและรักษาบรรยากาศทางอารมณ์เชิงบวก โดยการสร้างบรรทัดฐานที่ตกลงร่วมกันในชั้นเรียนถึงความรู้สึกต่าง ๆ และการเคารพต่อผู้อื่น การแสดงความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความรู้สึกเหล่านั้น

Mood Meter คือ เครื่องมือเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเองและสังคม ช่วยพัฒนาคำศัพท์เกี่ยวกับอารมณ์ที่เหมาะสมและกลยุทธ์ที่หลากหลายสำหรับการควบคุมอารมณ์

Meta-Moment คือ เครื่องมือเพื่อทบทวนและควบคุมอารมณ์ของตนเอง ด้วยเลือกวิธีการที่สอดคล้องกับตนเองและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น เช่น พักสมอง หายใจเข้าลึกๆ หาขนมกิน เป็นต้น

Blueprint คือ เครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถพิจารณาความขัดแย้งจากมุมมองของตนเองและมุมมองของผู้อื่น ช่วยพัฒนาทักษะการเอาใจใส่ ความเห็นอกเห็นใจ การนึกถึงความรู้สึกของกันและกัน พร้อมกันพูดคุยกันเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา

Reference

  • งานสัมมนาวิชาการ SoTL8

หัวข้อ ทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นในยุค Next Normal

การเรียนรู้อารมณ์และสังคม Social Emotional Learning : SEL

วิทยากร: รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล ผศ.ดร.สุรวิทย์ อัสสพันธุ์ และผศ.ดร.ชลิดา จูงพันธ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์