ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ของอัลเบิร์ต แบนดูร่า

feather-calendarPosted on 19 พฤศจิกายน 2024 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

เรียบเรียงโดย น.ส.เมตตา มงคลธีระเดช นักพัฒนาการศึกษา สถาบันการเรียนรู้

ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาโดยอัลเบิร์ต แบนดูร่า (Albert Bandura) ซึ่งกล่าวว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process) ที่เกิดขึ้นในบริบททางสังคม มนุษย์เราสามารถเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ ได้จากการสังเกต การเลียนแบบ และการมองเห็นจากพฤติกรรมของผู้อื่น นอกเหนือจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง (Direct Experience) เพียงอย่างเดียว แล้วนำมาปรับใช้เป็นแบบแผนในการกำหนดพฤติกรรมของตนเอง

นอกเหนือจากการสังเกตพฤติกรรมแล้ว การเรียนรู้ยังเกิดขึ้นจากการสังเกตผลลัพธ์ของการกระทำพฤติกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นการได้รับรางวัลและการลงโทษ กระบวนการนี้เรียกว่า การเสริมแรงทางอ้อม (Vicarious Reinforcement) เมื่อพฤติกรรมใดได้รับการให้รางวัลอย่างสม่ำเสมอ พฤติกรรมนั้นจะมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ต่อไป ในทางตรงกันข้าม หากพฤติกรรมใดถูกลงโทษอยู่ตลอดเวลา พฤติกรรมนั้นจะมีแนวโน้มที่จะหยุดลง

โดยทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) เป็นการขยายความจากทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ซึ่งมองว่าพฤติกรรมถูกกำหนดโดยการเสริมแรงเพียงอย่างเดียว

การทดลองตุ๊กตาโบโบ้ (Bobo Doll Experiment)

ในปี ค.ศ. 1961 อัลเบิร์ต แบนดูร่า (Albert Bandura) และทีมวิจัย ได้ทำการทดลองตุ๊กตาโบโบ้ (Bobo Doll) การทดลองนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาว่าพฤติกรรมก้าวร้าวสามารถเรียนรู้ได้จากการสังเกตและเลียนแบบผู้อื่นหรือไม่ โดยทดลองกับเด็กชาย 36 คนและเด็กหญิง 36 คน อายุ 3-6 ขวบ จากการสังเกตพฤติกรรมต้นแบบของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย 1 คน และผู้หญิง 1 คน โดยมีกระบวนการทดลองดังนี้

วิธีการทดลอง

แบนดูร่า ได้ใช้ตุ๊กตาล้มลุกที่ชื่อว่าโบโบ้ (Bobo Doll) โดยเขาแบ่งเด็กชายและเด็กหญิงออกเป็นกลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มสังเกตพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับตุ๊กตาโบโบ้

  1. กลุ่มทดลองที่ 1: เด็ก ๆ สังเกตผู้ใหญ่ที่ทำพฤติกรรมก้าวร้าวกับตุ๊กตา เช่น ตี เตะ โยนตุ๊กตาโบโบ้ รวมถึงการใช้วาจาที่แสดงถึงความรุนแรง
  2. กลุ่มทดลองที่ 2: เด็กๆ สังเกตผู้ใหญ่ที่แสดงพฤติกรรมสุภาพ ไม่ก้าวร้าวกับตุ๊กตาโบโบ้ และเล่นทิงเกอร์ทอยโดยไม่สนใจตุ๊กตาโบโบ้
  3. กลุ่มควบคุม: เด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ได้เห็นตัวอย่างพฤติกรรมใดๆ

เมื่อเด็กๆ ได้โอกาสเล่นกับตุ๊กตาโบโบ้ด้วยตัวเอง กลุ่มที่ได้เห็นพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ใหญ่มักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับตุ๊กตาเช่นเดียวกับที่พวกเขาได้สังเกต ในขณะที่กลุ่มที่เห็นพฤติกรรมสุภาพหรือไม่ได้เห็นพฤติกรรมใดๆ แทบจะไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว

เด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบผู้ใหญ่เพศเดียวกันมากกว่าเด็กผู้หญิง และเลียนแบบพฤติกรรมที่ก้าวร้าวทางร่างกายมากกว่าเด็กผู้หญิง ส่วนความก้าวร้าวทางวาจาของเด็กชายและเด็กหญิงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

ข้อสรุป

การทดลองตุ๊กตาโบโบ้ แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ สามารถเรียนรู้พฤติกรรมก้าวร้าวผ่านการสังเกตผู้อื่น และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของแบนดูร่าก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของ การเสริมแรงทางอ้อม โดยเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับรางวัลหรือยอมรับจากพฤติกรรมใด พวกเขามีแนวโน้มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมนั้น

อย่างไรก็ตามได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการวิจัยนี้ในหลายมุมมอง เช่น การทดลองนี้เป็นการวัดผลลัพธ์ในระยะสั้นของความก้าวร้าวของเด็ก ซึ่งไม่ได้มีการติดตามผลลัพธ์ในระยะยาว  และเป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของการเรียนรู้จากการสังเกตพฤติกรรมความก้าวร้าวเท่านั้น ซึ่งไม่ได้พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการพัฒนาทักษะทางสังคมได้อย่างครบถ้วน เช่น ความแตกต่างระหว่างบุคคล ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อารมณ์ หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม

กระบวนการหลักของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory)

ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ได้ผสมผสานทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behavioral Theories) และทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มการรู้คิด (Cognitive theories) เข้าด้วยกัน โดยในปี 1977 แบนดูร่า ได้แก้ไขทฤษฎีนี้ และระบุหลักการสำคัญของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ไว้ดังนี้

  1. การเรียนรู้ไม่ใช่กระบวนการทางพฤติกรรมเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process) ที่เกิดขึ้นในบริบททางสังคม
  2. การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้จากการสังเกตพฤติกรรมและการสังเกตผลลัพธ์ของพฤติกรรมนั้น (การเสริมแรงทางอ้อม)
  3. การเรียนรู้ประกอบด้วยการสังเกต การสกัดข้อมูลจากสิ่งที่สังเกต และการตัดสินใจเพื่อปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้น (การเรียนรู้จากการสังเกตหรือการจำลองแบบ) ดังนั้น การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจน
  4. การเสริมแรงมีบทบาทในการเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดการเรียนรู้
  5. ผู้เรียนไม่ใช่ผู้รับข้อมูลอย่างเฉยเมย ปัจจัยด้านการรับรู้ สภาพแวดล้อม และพฤติกรรม ล้วนมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน

การจำลองแบบ (Modeling)

แบนดูร่า ระบุว่าการจำลองแบบ (Modeling) เป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งมนุษย์สามารถเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ จากการสังเกตผู้อื่น โดยได้เสนอรูปแบบของการจำลองแบบ 3 ประเภท ดังนี้

  1. แบบจำลองสด (Live Models): เมื่อมีบุคคลแสดงพฤติกรรมให้เห็นโดยตรง
  2. คำแนะนำทางวาจา (Verbal Instruction): เมื่อมีบุคคลอธิบายพฤติกรรมที่ต้องการอย่างละเอียด และแนะนำวิธีปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้นให้กับผู้สังเกต
  3. แบบจำลองเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Models): การจำลองแบบที่เกิดขึ้นผ่านสื่อ เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต วรรณกรรม และวิทยุ โดยแบบจำลองนี้อาจเป็นตัวละครจริงหรือตัวละครสมมุติก็ได้

โดยข้อมูลจากการสังเกตขึ้นอยู่กับประเภทของแบบจำลอง รวมถึงกระบวนการทางปัญญาและพฤติกรรมต่างๆ โดยประกอบด้วย 4 กระบวนการหลัก ดังนี้ :

  1. การให้ความสนใจ (Attention) ผู้เรียนต้องให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ต้องการเรียนรู้ เพราะการให้ความสนใจเป็นขั้นตอนแรกในการนำข้อมูลเข้าสู่การเรียนรู้ โดยการให้ความสนใจขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้สังเกตด้วย เช่น ความสามารถในการรับรู้ ความสามารถทางปัญญา ความตื่นตัว และประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงลักษณะของพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ เช่น ความน่าสนใจ ความแปลกใหม่ และคุณค่าของพฤติกรรม
  2. การจดจำ (Retention) ผู้สังเกตต้องสามารถจดจำรายละเอียดของพฤติกรรมนั้นได้อย่างแม่นยำเพื่อที่จะสามารถทำซ้ำพฤติกรรมได้ โดยการทบทวนด้วยภาพหรือคำพูดจะช่วยให้เกิดการจดจำได้
  3. การนำไปปฏิบัติ (Reproduction) หลังจากจดจำได้แล้ว ผู้เรียนจะต้องนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพในบางครั้ง การปฏิบัติยังอาจต้องใช้การสังเกตตนเองและการรับข้อมูลย้อนกลับจากผู้อื่นเพื่อการปรับปรุงและพัฒนา
  4. แรงจูงใจ (Motivation) การตัดสินใจว่าผู้เรียนจะทำซ้ำพฤติกรรมที่สังเกตได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและความคาดหวังของผู้เรียน เช่น ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยแรงจูงใจนี้อาจได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับคำชม การได้รับรางวัล หรือการได้รับการยอมรับจากสังคม

การนำทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน

จากทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ช่วยให้ผู้สอนเห็นว่าการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนและอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เป็นพลังสำคัญที่ช่วยปรับปรุงแนวทางปฏิบัติทางการศึกษาและส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้แก่ผู้เรียน

เราสามารถนำทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) มาใช้เป็นแนวทางในพัฒนาผู้เรียนผ่านมุมมองต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. ด้านพฤติกรรม

ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการสอนให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในห้องเรียนได้โดยใช้การเสริมแรงเชิงบวกและรางวัล

ตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนมีคำถามและยกมือขออนุญาตก่อนพูด หลังจากนั้นผู้สอนได้เชยชมนักเรียน จะทำให้นักเรียนมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก นอกจากนี้ นักเรียนคนอื่น ๆ ก็จะทำตามและยกมือขึ้นหลังจากสังเกตว่าพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก

ในทางกลับกัน นักเรียนที่ถูกตำหนิถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชั้น ก็จะสังเกตพฤติกรรมดังกล่าวและหลีกเลี่ยงการแสดงพฤติกรรมนั้น

  • ด้านการสอน

ความสนใจของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยนำผู้เรียนเข้าสู่เนื้อหาการสอน ดังนั้น ก่อนที่จะสอน สาธิตหรือแสดงตัวอย่างให้นักเรียนดู สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้สอนต้องดึงดูดความสนใจให้ได้เสียก่อน เช่น การสร้างความประหลาดใจ การถามคำถามชวนสงสัย การเล่นเกม เป็นต้น นอกจากนี้ การทบทวนเนื้อหาและการใช้สื่อภาพ  หรือการใช้กิจกรรมประกอบบทเรียน จะช่วยเปิดประสาทสัมผัสเพื่อสร้างการจดจำพฤติกรรมให้กับผู้เรียนได้

  • การสร้างแรงจูงใจ

ผู้สอนมีหน้าที่ในการค้นหาวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การที่ผู้สอนมีความกระตือรือร้นและแสดงถึงความเอาใจใสในการสอน สามารถกระตุ้นให้นักเรียนกระตือรือร้นในการเรียนได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากนักเรียนมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบผู้สอน

หากนักเรียนมีความมั่นใจและเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่างได้ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะพยายามและประสบความสำเร็จมากขึ้น ในทางกลับกัน หากนักเรียนขาดความมั่นใจและไม่เชื่อว่าตนมีความสามารถที่เพียงพอ เขาก็จะมีความพยายามน้อยลง

  • การทำงานคู่หรืองานกลุ่ม

นอกจากการเรียนรู้จากผู้สอนที่เป็นต้นแบบแล้ว การเรียนรู้ยังเกิดขึ้นได้จากการสังเกตเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมการทำงานเป็นคู่และการทำงานเป็นกลุ่มในห้องเรียนจึงมีความสำคัญและมีประโยชน์

ตัวอย่างเช่น การจับคู่นักเรียนที่มีความสามารถสูงกับนักเรียนที่มีปัญหา จะทำให้ผู้เรียนสามารถให้คำปรึกษาและรับคำปรึกษาจากเพื่อนร่วมชั้นได้

ในการแบ่งกลุ่ม ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนที่มีแรงจูงใจน้อยจับกลุ่มกับนักเรียนที่มีแรงจูงใจสูง โดยผู้เรียนจะเรียนรู้ผ่านการสังเกตพฤติกรรมและทัศนคติของสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อคาดหวังว่านักเรียนที่มีแรงจูงใจสูงจะสามารถเป็นต้นแบบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

บทสรุป

ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) เป็นกรอบในการเชื่อมโยงผู้เรียนกับประสบการณ์จากมุมมองที่หลากหลาย โดยการสร้างบรรยากาศที่นักเรียนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งจากผู้สอน เพื่อนร่วมชั้น รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบตัว

สิ่งหนึ่งที่ทฤษฎีนี้แสดงให้เราเห็นคือ การสังเกตมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติของผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เปิดกว้าง มีความเห็นอกเห็นใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีผลลัพธ์ของพฤติกรรมในเชิงบวก

Reference

  1. Bandura, A., Ross, D., & Ross, S. A. (1961). Transmission of aggression through imitation of aggressive models. Journal of Abnormal and Social Psychology, 63(3), 575–582. 
  2. Bandura, A. (1977). Social Learning Theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.
  3. Saul McLeod, PhD. (February 1, 2024). Bandura’s Bobo Doll Experiment on Social Learning. Simply Psychology.https://www.simplypsychology.org/bobo-doll.html
  4. Becton Loveless (January 15, 2024). Bandura’s Social Learning Theory in Education. Education Corner. https://www.educationcorner.com/social-learning-theory/