6 เทคนิคการดึงดูดความสนใจของผู้เรียนตามหลักการของสมอง

feather-calendarPosted on 29 มกราคม 2024 document Pedagogyคลังความรู้
แชร์

เมื่ออาจารย์ต้องเริ่มต้นบทเรียนใหม่ หัวข้อใหม่ ๆ แล้ว อาจารย์มีวิธีการดึงดูดความสนใจของนักเรียนก่อนเข้าเนื้อหาอย่างไรกันบ้าง??

หากเราลองดูถึงข้อมูลจากทฤษฎีประสาทวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบการจับความสนใจของสมอง การเข้าใจกระบวนการนี้อาจช่วยให้ผู้สอนทราบถึงเทคนิคเฉพาะตัวที่สามารถนำมาใช้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เมื่อต้องเริ่มต้นบทเรียนใหม่

ก่อนอื่นเรามาดูก่อนว่าตามหลักการทำงานของสมองนั้น มีวิธีการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวและแสดงความสนใจอย่างไรบ้าง

สมองคัดกรองความสนใจอย่างไร

ในทุก ๆ วินาที สมองได้รับข้อมูลจำนวนมากผ่านทางประสาทสัมผัส ตา หู อวัยวะภายใน ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ ซึ่งในระยะเวลาเดียวกันนั้น สมองของมนุษย์เราไม่สามารถรับรู้และประมวลผลทุกสิ่งทุกอย่างได้พร้อมๆ กัน สมองจึงมีระบบ RAS ที่ย่อมาจาก Reticular Activating System ที่ทำหน้าที่เป็นตัวคัดกรองความสนใจ เพื่อรักษาสมดุลในระบบความคิดและช่วยให้สมองไม่ต้องทำงานหนักมากจนเกินไป โดยคัดกรองเฉพาะสิ่งแปลกใหม่ สิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน และตัดทอนเรื่องที่เรายังไม่ให้ความสำคัญทิ้งไป

โดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั้น ระบบ RAS จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่คาดคิด สิ่งที่แตกต่างไปจากปกติ เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่ไม่เสี่ยงต่ออันตราย ระบบ RAS จะนำความสนใจไปที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สัตว์หรือมนุษย์ เช่นเดียวกันกับห้องเรียน หากในห้องเรียนมีสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่น่าสนใจมากกว่าบทเรียนที่ผู้สอนกำลังสอนอยู่ ก็อาจส่งผลให้ผู้เรียนขาดความสนใจ เบื่อหน่ายต่อการเรียน ไม่เข้าใจเนื้อหาการสอน จนทำให้ท้ายที่สุดแล้วนั้นผู้เรียนไม่เป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้

เทคนิคการดึงดูดความสนใจของผู้เรียน

1. ทำให้ผู้เรียนแปลกใจ

ทำสิ่งที่ผิดปกติจากเดิม สิ่งที่ผู้เรียนไม่คาดคิดมาก่อน เพื่อกระตุ้นความสนใจและเปิดตัวกรองความสนใจของระบบ RAS

ตัวอย่างการนำไปใช้

  • ผู้สอนสวมเสื้อผ้าที่แปลกตา พร้อมนำสิ่งของแปลก ๆ เข้สมาในชั้นเรียน หรือเปิดเพลงเมื่อผู้เรียนเข้าห้อง จากนั้นผู้สอนเริ่มนำเข้าสู่บทเรียน โดยการให้ผู้เรียนทายว่าเสื้อผ้า, สิ่งของ, หรือเนื้อเพลงนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทเรียนใหม่ที่กำลังจะสอนอย่างไรบ้าง
  • เมื่อผู้สอนต้องการเริ่มต้นบทเรียนเกี่ยวกับตัวเลขติดลบ ผู้สอนจึงใช้วิธีการเดินถอยหลังเข้าห้อง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสงสัย จากนั้นก็ถามผู้เรียนว่าคิดว่าทำไมครูจึงเดินถอยหลังเข้าห้อง

2. นำเสนอข้อมูลที่แปลกประหลาด, ผิดปกติ, หรือนำเสนอเหตุการณ์ที่ดูขัดแย้ง

สมองมีรูปแบบพื้นฐานของการตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยรูปแบบพื้นฐานนั้นเกิดจากการพบเจอประสบการณ์ต่าง ๆ เกิดการเรียนรู้ และจดจำเป็นรูปแบบพื้นฐาน ซึ่งรูปแบบพื้นฐานนี้จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจการใช้ชีวิต เข้าใจผู้คนได้ อย่างไรก็ตาม หากรูปแบบพื้นฐานถูกทำลายและไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ สมองจะถูกกระตุ้นทันที

ตัวอย่างการนำไปใช้

ครูวิทยาศาสตร์ทำการเป่าลูกโป่ง จากนั้นนำไม้ปลายแหลมค่อย ๆ ทิ่มที่ด้านหนึ่งของลูกโป่ง จากนั้นครูดันไม้ปลายแหลมทิ่มไปยังด้านตรงข้ามของลูกโป่งโดยไม่ทำให้ลูกโป่งแตก ซึ่งทำให้ผู้เรียนประหลาดใจมาก และอยากให้ครูสาธิตอีกครั้ง

3. ชวนผู้เรียนทำนายผล

ความสามารถในการทำนายเป็นพื้นฐานของการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ เมื่อเราทำนายถูก สมองจะให้รางวัลด้วยการปล่อยสารโดปามีน ซึ่งเมื่อสารโดปามีนถูกหลั่งแล้วจะทำให้รู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉงและมีความสุข ผู้สอนสามารถนำมาปรับใช้ในชั้นเรียน โดยการตั้งคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการทำนายเกี่ยวกับบทเรียนใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและพยายามค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับเพื่อทำนายให้ถูกต้อง

ตัวอย่างการนำไปใช้

วิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษา ผู้สอนให้ผู้เรียนทำนายว่าวัตถุไหนจะลอยและวัตถุไหนจะจม ก่อนการทดลองปฏิบัติจริง ผู้เรียนจะเกิดการมีส่วนร่วม กระตือรือร้นที่จะทราบว่าสิ่งที่เขาทำนายนั้นถูกต้องหรือไม่

4. ตั้งคำถามที่ท้าทาย

ชวนตั้งคำถามที่ท้าทาย เพื่อกระตุ้นสมอง โดยคำถามที่ท้าทายที่สุดคือคำถามปลายเปิด ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการคิดและการอธิปรายและเปิดประตูสู่การสำรวจความรู้เพิ่มเติม

ตัวอย่างการนำไปใช้

ผู้สอนมอบคำถามปลายเปิด เช่น ทำไม อย่างไร เพราะอะไร แล้วให้ผู้เรียนได้มีเวลาคิดเงียบ ๆ ด้วยตัวเอง ก่อนที่จะตอบ จากนั้นให้ลองเขียนคำตอบแบบเร็ว ๆ หรืออาจใช้เทคนิค think-pair-share ร่วมกับเพื่อนคนอื่น หลังจากกิจกรรมการมีส่วนร่วมนี้ จะส่งผลให้ผู้เรียนมีแนวโน้มที่จะสนใจเรียนในบทเรียนมากขึ้น

5. อ้างถึงเหตุการณ์ปัจจุบันหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน

โดยทั่วไปแล้ว ผู้เรียนมักมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันหรือประเด็นที่มีข้อขัดแย้ง ไม่ว่าจะในระดับโรงเรียนหรือระดับสังคม ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ในการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้

ตัวอย่างการนำไปใช้

ในบทเรียนการเขียนเชิงโน้มน้าวใจในระดับมัธยมต้น ผู้สอนแสดงบทความในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการโรงเรียนหนึ่งที่กำหนดให้นักเรียนสวมเครื่องแบบในโรงเรียน จากนั้นให้นักเรียนอธิปรายเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของนโยบายดังกล่าว มีการระบุจุดยืนของตนเอง หรือแม้แต่การสลับฝั่ง เพื่อให้พยายามทำความเข้าใจมุมมองที่แตกต่างกันและฝึกฝนทักษะการโต้แย้ง เพื่อเป็นกิจกรรมนำสู่บทเรียนการเขียนเชิงโน้มน้าวใจ

6. ใช้อารมณ์ขัน

อารมณ์ขันเป็นตัวกระตุ้นสารโดปามีน และช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนได้อย่างมาก

ตัวอย่างการนำไปใช้

บทเรียนเรื่องอัตราส่วนและสัดส่วนในระดับประถมศึกษา ครูคณิตศาสตร์นำภาพล้อเลียนตลก ๆ ของคนดังมาให้ผู้เรียนดู โดยให้นักเรียนอธิบายว่าเหตุใดภาพจึงดูตลก ซึ่งนักเรียนจะสังเกตได้ว่าลักษณะทางกายภาพต่างๆ (เช่น ตา, จมูก, หู, หัว) ของคนในภาพนั้นมีขนาดใหญ่เกินจริงมาก จากนั้นครูจึงนำเสนอภาพ Vitruvian Man ของ da Vinci ให้ผู้เรียนดู เพื่อแสดงสัดส่วนในอุดมคติของร่างกายมนุษย์

คำแนะนำการใช้เทคนิคให้มีประสิทธิภาพ

  • สลับการใช้เทคนิคการดึงดูดความสนใจเสมอ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเคยชินที่ผู้เรียนสามารถคาดเดาได้
  • เทคนิคที่แนะนำในข้างต้นนั้น ไม่เพียงแต่ใช้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนเมื่อเริ่มบทเรียนใหม่ หรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เป้าหมายระยะยาวคือการทำให้ผู้เรียนมีความสนใจกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่เสมอ
  • ยังมีอีกหลายวิธีการที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้เรียน โดยกระบวนการสอนแบบ Active Learning  ตัวอย่างเช่น การใช้ Authentic Tasks และ Project , การเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning) , การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning), การสัมมนาแบบโสเครติส (Socratic Seminars),
  • การจําลองสถานการณ์ (Simulation), การเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) , การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีทางเลือกที่เหมาะสมในการกำหนดหัวข้อโครงงานและวิธีการปฏิบัติงาน

References

  • Willis, J., & McTighe, J. (2024, January 18). 6 Ways to Capture Students’ Attention. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/strategies-capture-students-attention
  • อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์). (2021, December 22). เรื่องภายในของสมองกับระบบ RAS คัดสรรความสนใจ จนกลายเป็นเพลง The Beatles และ ‘โปรมือถือ’. Thairath Online. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100857