สาระสำคัญจากการบรรยายหัวข้อ “เทคโนโลยีกับการศึกษายุค Next Normal”

feather-calendarPosted on 14 กรกฎาคม 2023 document PedagogyEducation technologyคลังความรู้
แชร์

โดย ดร.สุพจน์ ศรีบุตพงษ์

Head of AIS Academy

Head of Technical Knowledge Management Advanced Info Service Plc.

เรียบเรียงโดย พชรพร เจริญวินัย

Generation กับรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่าง

การรับรู้และเข้าใจความแตกต่างของคนในแต่ละ Generation เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการจัดการเรียนรู้

หากพิจารณาถึงรูปแบบการเรียนรู้ในแต่ละ Generation สามารถอธิบายความแตกต่างกันได้ดังนี้

  • คนรุ่น Gen X คือคนที่เกิดช่วงปี 1965 – 1980 มี Learning style แบบ Participative คือการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทำกิจกรรมร่วมกัน
  • คนรุ่น Gen Y คือคนที่เกิดช่วงปี 1981 – 1996 มี Learning style แบบ Interactive คือการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ เกิดการตอบโต้ซึ่งกันและกัน เช่น การสอนแบบ Simulation
  • คนรุ่น Gen Z คือคนที่เกิดช่วงปี 1997 – 2012 มี Learning style แบบ Multi-modal คือการรับรู้จากสื่อในหลากหลายรูปแบบ การเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended learning)
  • และคนรุ่น Gen Alpha คือคนที่เกิดช่วงปี 2013 – 2025 จะมี Learning style แบบ Virtual คือการเรียนรู้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนผู้เรียน เช่น ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom)

คนรุ่น Gen Alpha นั้นจะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ระบบ IT รวมถึงการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่เข้ามามีบทบาทและส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นผู้สอนจึงควรเน้นการพัฒนาสมรรถนะ (Competencies) ด้านการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่ผู้เรียน รวมถึงการพัฒนา Life Skills เช่น ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Learning trends รูปแบบเทคโนโลยีการศึกษาวิถีใหม่

ปัจจุบันเทรนด์การศึกษาปรับไปในรูปแบบของการพัฒนากำลังคน โดยเน้นทักษะที่จำเป็นในการทำงาน พัฒนาผู้เรียนให้พร้อมทำงานหลังจบหลักสูตรหรือจบ Module นั้น ๆ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอน จึงปรับเป็นการเรียนรู้รูปแบบ Module ตามหลักการ Competency based learning

พฤติกรรมการเสพ Social Media ของมนุษย์ได้ปรับเปลี่ยนจากการอ่านเนื้อหา ดูรูปภาพ เป็นการเสพคลิปวิดีโอสั้นๆ สรุปใจความสำคัญผ่านภาพเคลื่อนไหว เช่น TikTok

เราในฐานะบุคลากรทางการศึกษาจึงต้องมีความเข้าใจและเพิ่มทักษะที่จำเป็น เพื่อปรับใช้สื่อเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน

การปรับตัวของระบบการศึกษา

ปัจจุบันมีผู้พัฒนา Platform หรือ Application ต่าง ๆ มากมายที่ผู้สอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการถ่ายทอดเนื้อหาการสอน เสริมความเข้าใจและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ เช่น

1. PhET

คือ แบบจำลองการเรียนรู้บทเรียนแบบ simulation ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัย Colorado Boulder สามารถเข้าไปทดลองใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

2. Photomath https://photomath.com/ และ

Microsoft Math https://math.microsoft.com/en

คือแอปพลิเคชันทางคณิตศาสตร์ ที่สามารถแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ โดยการสแกนโจทย์ปัญหาจากภาพถ่าย คำนวณและแสดงผลลัพธ์ได้ทันท

3. Mentimeter

คือแอปพลิเคชันสำหรับการสร้าง Presentation ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้ ผ่านกิจกรรมระดมสมอง การแสดงความคิดเห็น โดยผู้สอนสามารถสร้างได้หลายรูปแบบ เช่น คำถามหลายตัวเลือก คำถามปลายเปิด การโหวต เป็นต้

4. Quizizz

คือ แอปพลิเคชันสำหรับสร้างแบบทดสอบออนไลน์ในรูปแบบของเกม ผู้สอนสามารถสร้างข้อคำถามได้หลายแบบ เช่น คำถามหลายตัวเลือก เติมคำ จับคู่ เป็นต้น โดยจะแสดงผลทันทีหลังจบเกม ถือได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานในชั้นเรียนพร้อมทั้งได้รับความรู้ไปด้วย

5. Wheels of names

คือ เว็บไซต์สำหรับสร้างวงล้อสุ่ม ที่ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการสอน เช่น การสุ่มชื่อผู้เรียนเพื่อตอบคำถาม การสุ่มลำดับการนำเสนอผลงาน เป็นต้น

การมาของ AI

 “The Knowledge Creator” คำ ๆ นี้ถ้าเป็นคน ๆ หนึ่ง ก็อาจนับเป็น ครู อาจารย์ นักวิชาการที่สร้างความรู้ขึ้นมาผ่านการศึกษาทดลอง แต่ปัจจุบัน The Knowledge Creator กลายเป็น Platform อันหนึ่งที่อาศัย AI ในการประมวลข้อมูลความรู้ ซึ่งมาจากการมีฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล แล้ว AI สามารถดึงเอาข้อมูลที่มีมาประมวลผลออกมาเป็นชุดความรู้ที่เราต้องการรู้ได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนคือ Chatbot ที่ชื่อ ChatGPT

สิ่งนี้สร้างความกังวลอย่างมากให้แวดวงการศึกษา เพราะไม่ว่าคุณจะพิมพ์ไปว่าอยากได้ข้อมูลอะไร แม้แต่การเขียน Essay หรือ การแต่งเนื้อเพลงซักเพลง ChatGPT ก็สามารถรังสรรค์ให้คุณได้

สิ่งที่นักการศึกษา ครู อาจารย์เริ่มหาแนวทางรับมือกับ ChatGPT พบว่า ในสหรัฐอเมริกา รูปแบบการสอบเริ่มเปลี่ยนเป็นการสอบปากเปล่ามากขึ้น อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอาจจะสร้างความกังวลใจในช่วงแรก แต่ในอนาคตมนุษย์จะสามารถรับมือและสร้างสรรค์แนวทางที่จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้จนได้